Outbound Link จำเป็นต้องมีไหม สำคัญยังไงต่อธุรกิจ ?
Inbound - Outbound Link คืออะไร? ต้องมีไหม? จริงหรือเปล่าที่เราควรมีแค่ลิงก์ในเว็บไซต์? คำถามเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นบทความนี้ขึ้นมา เพื่อคลายข้อสงสัย และไขความกระจ่าง ลิงก์ (Link) ส่วนที่ใช้เชื่อมต่อจากหน้าเว็บหนึ่งไปยังหน้าหนึ่ง หรือบางครั้งก็เชื่อมต่อในหน้าเดียวกัน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะพิเศษ คือ ขีดเส้นใต้ และเป็นสีที่ต่างจากข้อความธรรมดา เพื่อบ่งบอกว่าคลิกได้ (Clickable) และลิงก์อยู่ในรูปแบบข้อความ (Text) หรือรูปภาพ (Image) ก็ได้
ข้อสังเกต น่ารู้: Link ทับศัพท์เป็นภาษาไทยได้ว่า ลิงก์ / k ถ้าอยู่ท้ายตัวสะกดจะใช้ ก จึงมี ก เป็นตัวการันต์ ถ้าเขียนว่า ลิงค์ ความหมายจะเปลี่ยนทันที ซึ่งหมายถึง เครื่องหมายบ่งบอกเพศทางไวยากรณ์ เพื่อให้รู้ว่าคํานั้นเป็นเพศอะไร เช่น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาษา และคำทับศัพท์ เขียนยังไงให้ถูก
ประเภทของ Links
ประเภทของลิงก์ (Link) มีเยอะมาก แต่ที่พบบ่อยที่สุดมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ
- Internal Link หรือลิงก์ภายใน เป็นลิงก์ที่เชื่อมโยงจากหน้าหนึ่งไปยังหน้าอื่น ๆ ในเว็บไซต์เดียวกัน ซึ่งการใส่ Internal Link จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์สำหรับเครื่องมือค้นหา (Search Engine) ได้
- External Link หรือลิงก์ภายนอก ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท
- Inbound Link หรือเรียกอีกชื่อว่า Backlink คือลิงก์จากเว็บไซต์อื่นที่ยิงมาที่เว็บไซต์เรา
- Outbound Link คือลิงก์จากเว็บไซต์เรายิงออกไปเว็บอื่น (เว็บข้างนอก) ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ต่อไป
Outbound link สำคัญยังไงต่อธุรกิจ ทำไมต้องมี?
การเพิ่มลิงก์ไปยังเว็บไซต์อื่นในเนื้อหาของเรา อาจจะดูเหมือนไม่สมเหตุสมผล เพราะเหมือนส่งเสริมให้คนที่เข้ามา เด้งตัวเองออกไปที่เว็บอื่น แต่การเพิ่มลิงก์ขาออก (Outbound Link) ที่เกี่ยวข้องถือเป็นแนวทางปฏิบัติด้าน SEO ที่ดีและควรทำ เหมือนเป็นการเชื่อมสะพานไปหลาย ๆ ที่ ผู้ที่เดินทางก็สะดวกขึ้น ไปได้หลายที่มากขึ้น เข้าถึงแหล่งที่ไม่เคยไป
Outbound Link ที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้ประสบการณ์ผู้ใช้ (ต่อเว็บเรา) ดีขึ้น
เราเคยพูดถึง การสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ในเว็บไซต์ไปแล้วในบทความปัดฝุ่นเนื้อหา และอยากย้ำอีกครั้งว่า หนึ่งปัจจัยสำคัญ คือประโยชน์ที่ผู้อ่าน หรือผู้เข้ามาเยี่ยมเว็บไซต์จะได้รับ ถ้าเราลิงก์เนื้อหาไปอีกที่ที่ยังอยู่ในหัวข้อเดิม และมีประโยชน์ จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าเว็บเราช่วยให้คำตอบแก่เขาได้ และมีโอกาสถูกแนะนำ และเพิ่ม Traffic ให้กับเว็บไซต์เราอีกทางหนึ่ง
ช่วยให้เว็บเป็นมิตรต่อ SEO
Outbound Link ไม่เพียงแต่ดีสำหรับ SEO ของเว็บไซต์ แต่ยังดีสำหรับ SEO ในภาพรวมด้วย การใส่ Outbound Link ในเว็บไซต์ จะช่วยสร้างเครือข่ายเว็บที่ขยายจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องหนึ่งไปยังอีกไซต์หนึ่ง ทำให้เครื่องมือค้นหาสามารถเชื่อมต่อจุดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทำให้ข้อมูลเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ใช้อ้างอิงแหล่งข้อมูล เพิ่มความน่าเชื่อถือ
นอกจากจะเป็นการช่วยเครื่องมือค้นหาอย่างกูเกิลเสิร์ชแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนเว็บไซต์เรา ได้ข้อมูลที่ต้องการ และได้ความรู้นอกเหนือจากที่เรามอบให้ จากลิงก์ขาออก หรือบางครั้ง เราใช้ข้อมูลที่อ้างอิงมาจากเว็บไซต์อื่น ก็สมควรที่จะให้เครดิต หรือแสดงความมีน้ำใจด้วยการลิงก์กลับไปหาแหล่งข้อมูลนั้น
อีกกรณีหนึ่ง หากเราต้องการให้ข้อมูลความรู้อื่นที่เกี่ยวข้อง แต่เราไม่สันทัด หรือไม่อยากเขียนเอง ก็สามารถส่งต่อไปยังแหล่งข้อมูลที่เขาสันทัด เป็นการช่วยเว็บเพื่อนบ้าน เว็บพันธมิตร หรือเว็บลูกค้าไปในตัว
สรุปแล้ว Outbound link มีความสำคัญต่อ SEO ไหม?
มาถึงตรงนี้ ขอบอกเลยว่า ลิงก์ขาออกหรือ Outbound Link สำคัญต่อ SEO เป็นอย่างมาก ซึ่งคำว่า SEO ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ SEO สำหรับเว็บไซต์ของเราเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึง SEO: Search Engine Optimization ทั้งหมดในโลกข้อมูลออนไลน์
เคล็ดไม่ลับ กับเทคนิคการทำ Outboud Link
- มีแต่พอดี ทุกบทความหรือโพสต์ควรมี Outbound Link 1 อันเป็นอย่างน้อย และไม่จำเป็นต้องมีเพิ่มมากกว่านั้นก็ได้ ถ้าทำมากก็อาจจะเปิดโอกาสให้ผู้อ่านไม่กลับเข้ามายังเว็บไซต์เดิม และกูเกิลเองอาจมองว่าเป็นเว็บ Spam ได้
- สร้างเว็บพันธมิตร เพื่อเเลกเปลี่ยนลิงก์ขาออก
- ทำ Outbound Link เป็น Open new tab เพื่อให้ผู้อ่านเปิดดูข้อมูลเว็บไซต์อื่นโดยที่ยังคงอยู่ที่เว็บเรา หลีกเลี่ยงการเสียผู้เข้าชมระหว่างทาง
- เขียนเนื้อหาลิงก์ (URL)ให้เกี่ยวข้อง โดยผู้อ่านสามารถทราบได้เลยว่าลิงก์นี้กดไปแล้วจะเป็นอะไร
อ้างอิง
- Outbound links, Yoast.
- Do outbound links matter for SEO? Yoast.
- Outbound Link ตัวช่วยดี ๆ ในการทำ SEO ที่ขาดไม่ได้, Nur-i-nee. SEO Station.
- Why Outbound Link? ทำไมการใส่ลิงก์ออกไปที่เว็บคนอื่น ถึงส่งผลดีต่อเว็บของเรา, Orn Smith. Content Shifu.