Hybrid Application คืออะไร
Hybrid Application คือแอปพลิเคชันมือถือที่มีการพัฒนามารองรับแพลตฟอร์ม Android, iOS และ Windows ซึ่งไม่เหมือนกับ Native Application ที่ถูกพัฒนามาแบบภาษาเฉพาะให้รองรับระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันเพื่อให้สามารถใช้งานได้ทุกแพลตฟอร์ม ตัวอย่างภาษาที่ใช้พัฒนา Native Application ที่ใช้พัฒนาระบบปฏิบัติการ iOS คือภาษา Swift หรือ Objective-C ส่วนระบบปฏิบัติการ Android นั้นจะใช้ภาษา Kotlin หรือ Java ในการพัฒนา ซึ่งต่างกับ Hybrid Application ที่จะใช้ HTML, JavaScript, CSS, Dart และอื่น ๆ
ข้อดีของ Hybrid Application
แหล่งอ้างอิงจากรูป Click
1. ใช้เพียง Framework เดียว : พัฒนาครั้งเดียวสามารถใช้ได้ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Android, iOS, Windows ซึ่งทีมนักพัฒนาขององค์กรคุณเพียง 1 ทีม ก็เพียงพอต่อการพัฒนา Application จากปกติที่จะมีทีมนักพัฒนา 1 ทีม ต่อ 1 แพลตฟอร์ม
2. เหมาะกับแอปพลิเคชันที่ไม่ซับซ้อน : การพัฒนาแอปพลิเคชันแบบ Hybrid จะต้องคำนึงถึง แพลตฟอร์มที่ใช้งาน ดังนั้นการพัฒนาจะมีความซับซ้อนมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อแอปพลิเคชันยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นยิ่งทำให้ประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันลดลง
3. ค่าใช้จ่ายไม่สูง : ดังที่กล่าวในข้อที่ 1 เมื่อเราใช้นักพัฒนาน้อย ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาจะยิ่งต่ำลง
4. ใช้เวลาพัฒนาน้อย : การที่สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันได้ใน Framework ตัวเดียว ซึ่งรอบรับ Platform Android, iOS, Windows จะช่วยลดเวลาในการพัฒนาได้อย่างมาก และเมื่อเกิดบัคขึ้น นักพัฒนาก็สามารถแก้ได้ภายในครั้งเดียว ซึ่งจะไม่เหมือนฝั่ง Native Application ที่ต้องไปแก้บัคสองรอบหรือมากกว่านั้น ซึ่งจะทำให้ใช้ระยะเวลาแก้บัคมากขึ้นเช่นกัน
ข้อเสียของ Hybrid Application
1. ไม่เหมาะกับแอปพลิเคชันที่ซับซ้อน : ประสิทธิภาพในการทำงานของ Hybrid Application ในการทำงานหนัก ๆ เช่นงาน Graphic ที่ต้องการการ Render ที่สูงจะด้อยกว่า Native Application
2. ไม่สามารถใช้งานร่วมกับ Native Feature อื่นได้โดยตรง : libs ของฝั่ง Native จะไม่สามารถใช้งานได้โดยตรง แต่ถ้าอยากใช้ก็อาจจะต้องทำ Bridging ลงไปหา Native เอง
libs ที่ใช้งานจะขึ้นอยู่กับนักพัฒนา Framework เหล่านั้นเลยว่าจะพัฒนา libs ให้ Framework ในส่วนไหนบ้าง
3. โค้ดมีความซับซ้อนสูง : การที่ Hybrid Application จะเข้าถึงฟังก์ชันของ Native ได้ ต้องเข้าถึงผ่าน Plug-In ซึ่ง การใช้ Plug-In ที่เยอะมาก ๆ หมายถึงความซับซ้อนของโค้ด (Code Complexity) ก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ใครที่ควรใช้ Hybrid Application
Hybrid Application ไม่ได้ตอบโจทย์กับทุกธุรกิจ เพราะในปัจจุบันแอปพลิเคชันบางอย่างก็มีความซับซ้อนอย่างมาก เมื่อทำในรูปแบบ Hybrid Application มักจะเกิดปัญหาการ Render UI และฟังก์ชันบางอย่าง หรือ libs บางตัวยังไม่ตอบโจทย์กับการใช้งานในปัจจุบัน ดังนั้นแอปพลิเคชันที่มักถูกพัฒนาในปัจจุบันจะมีดังนี้
1. Social แอปพลิเคชัน
2. แอปพลิเคชันเกี่ยวกับอีเมลหรือการส่งข้อความ
3. แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลต่าง ๆ
4. แอปพลิเคชันเกี่ยวกับกิจกรรมหรืองาน event ต่าง ๆ
5. แอปพลิเคชันการจดโน้ตหรือบันทึก
6. แอปพลิเคชันโปรโมทสินค้าต่าง ๆ (E-Commerce)
6 ขั้นตอนในการพัฒนา Hybrid Application
1. การวางแผน (Planning): การทำ Application ขึ้นมาสักอย่างจะต้องมีการวางแผนก่อนว่าจะให้แอปพลิเคชันทำงานไปในทิศทางใดให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานจริง ซึ่งถ้าผู้วางแผนทำขั้นตอนนี้ออกมาได้ดี จะยิ่งทำให้ลดระยะเวลาในการแก้ไขหรือปรับปรุงหน้า UI และ Flow การทำงานในการพัฒนาในขั้นตอนอื่น ๆ อย่างมาก
2. การออกแบบและดีไซน์ หน้า UI Interface: หน้า UI ของ Hybrid Application จะแตกต่างกับ Native Application เพราะจะต้อง Render หน้า UI ต่าง ๆ ให้รองรับทั้ง Android และ iOS ดังนั้นการทำในส่วนนี้จะต้องใช้ระยะเวลามากขึ้นพอสมควร เพื่อให้ Developer พัฒนาแอปพลิเคชันได้รวดเร็วและทำให้ผู้ใช้งานใช้งานง่ายขึ้น
3. การพัฒนา (Development): การพัฒนา Hybrid Application จะต้องตรงตาม Requirement ของลูกค้าให้ได้มากที่สุด และการเขียนโค้ดไม่ควรมีความซับซ้อนมาก เพื่อให้ผู้พัฒนาคนอื่นที่มาแก้ไขหรือปรับปรุงโค้ดอ่านและเข้าใจได้รวดเร็ว
4. การทดสอบ (Testing): ในส่วนการทดสอบจะใช้เวลาค่อนข้างมาก เนื่องจาก Hybrid Application นั้นต้องมีการทดสอบหลายแพลตฟอร์ม และจะมีผลกับผู้ใช้งานมากที่สุด เนื่องจาก Flow บางอย่างที่ผู้ใช้งานมักเจอมักอยู่นอกเหนือจากที่ผู้วางแผนหรือผู้ออกแบบคิดไว้ ดังนั้นเมื่อทำการทดสอบให้ครอบคลุมการใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ และมีการแก้ไขจะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานแอปพลิเคชันดียิ่งขึ้น
5. การนำ Application ขึ้นใช้งานจริง (Deployment): เมื่อมีการพัฒนาและทดสอบจนสมบูรณ์แล้ว ต้องมีการ Deploy Application ขึ้นใช้งานจริง ไปที่ Play Store (Android), App Store (iOS)
6. การปรับปรุงระบบ (Maintenance): ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ จะเป็นการปรับปรุงหรือแก้ไขบัคที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากนำ Application ขึ้นใช้งานจริงแล้ว ซึ่งมักจะเป็นการแก้ไขบัคที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้งานที่มีการ Feedback กลับมา
สรุปได้ว่า Hybrid Application คือทางเลือกที่ดีในการพัฒนา Application เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคทั่วไป เนื่องจากใช้งานได้ทุกแพลตฟอร์มจึงทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ดี App รูปแบบนี้ก็อาจมีข้อจำกัดบางประการเรื่องประสิทธิภาพอยู่บ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาหาก App ที่พัฒนาออกมาตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างไรก็มีผู้ใช้งานจำนวนมากแน่นอน
แหล่งอ้างอิง
· https://codecontrol.io/en/blog/the-pros-and-cons-of-hybrid-mobile-app-technology
· https://www.turing.com/resources/hybrid-mobile-app-development