Colors in Business : สีเปลี่ยนธุรกิจ
ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ผมมีคำถามชวนนึกมาให้อุ่นเครื่องกันสักหน่อย เมื่อพูดถึงธุรกิจอาหาร คุณนึกถึงสีอะไร? (ลองนึก ตอบตัวเองในใจ แล้วค่อยอ่านต่อ) ถ้าเป็นธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพล่ะ คุณนึกถึงสีอะไร?
แล้วถ้านึกถึงธนาคาร คุณนึกถึงสีอะไร?
ไม่ต้องแปลกใจ หากสีที่คุณนึกถึงตรงกับสิ่งที่ผมจะบอกต่อไปนี้ เพราะสีนั้นมีผลอย่างมากต่อการรับรู้จากการมองเห็น รวมถึงอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมการตอบสนองของคนเราโดยไม่รู้ตัว คนส่วนใหญ่มักนึกถึงสีแดงเมื่อพูดถึงธุรกิจอาหาร เพราะสีแดง เป็นสีที่กระตุ้นความหิวกระหาย พลังงาน และยังสีที่ไวต่อความรู้สึกมากที่สุด (แต่ก็ไม่ผิดถ้าคุณจะนึกถึงสีอื่น มีเหตุผลในบทความว่าทำไม)
ในขณะที่สีเขียว มักจะใช้ในธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ(จากคำถามด้านบน) ที่สีสัมพันธ์กับพืชผัก ความสดใหม่ และคำถามสุดท้าย ธนาคาร คนส่วนใหญ่จะเห็นและนึกถึงสีฟ้าหรือน้ำเงิน เพราะเป็นสีที่ให้ความนิ่ง ความน่าเชื่อถือ และความจริงจัง นั่นเอง (ถ้าคุณนึกถึงสีม่วง อาจเป็นเพราะว่าคุณใช้หรือเห็นสื่อโฆษณาของแบรนด์นั้นบ่อยโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ :) )
ในบทความนี้ ผมจะขอพูดถึงสีในภาพรวม เพราะสีไม่ได้มีผลแค่กับผู้บริโภค หรือกลุ่มลูกค้าของคุณแค่จากโลโก้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเว็บไซต์ โฆษณา สื่อการตลาดต่าง ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ที่คนสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันตั้งเเต่ตื่นนอน ไปทำงาน จนถึงกลับบ้านเลยทีเดียว
สีสำหรับธุรกิจสำคัญยังไง
ไม่ว่าจะเป็นสีไหน ก็ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคน การเลือกสีที่ใช่และเหมาะกับแบรนด์หรือธุรกิจ นอกจากจะเป็นตัวดึงดูดกลุ่มลูกค้าและการตอบสนองที่คุณต้องการแล้ว ยังสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าได้อีกด้วย
- สะท้อนถึงคุณลักษณะขององค์กร, สินค้า หรือการบริการ
- แสดงถึงตัวตนของธุรกิจ (Branding)
- สร้างคาแรกเตอร์ให้กับธุรกิจ
- สร้างอารมณ์ ประสบการณ์ให้กับลูกค้า
- เป็นหนึ่งในปัจจัยให้คนจดจำแบรนด์
ยกตัวอย่างเช่น คุณมีเงินสดจำนวนหนึ่ง และต้องการเปิดบัญชีที่ธนาคาร คุณมี 2 ธนาคารให้เลือก ธนาคารแรก ถูกตกแต่งด้วยโทนสีน้ำเงินเสียส่วนใหญ่ อีกธนาคารเป็นโทนสีชมพู คำถามคือ หากตัดปัจจัยอื่น ๆ ออกแล้ว คุณจะเลือกฝากเงินกับธนาคารไหน?
ซึ่งคำตอบของคุณไม่มีถูกผิด เพราะขึ้นอยู่กับการตอบสนองและความรู้สึกของคุณต่อสีทั้งสองสี แต่ระหว่างคนที่เลือกธนาคารสีน้ำเงินกับสีชมพู แน่นอนว่าย่อมมีบุคคลิก ลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งให้คุณคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าว่าคุณทำธุรกิจรองรับคนลูกค้าแบบไหน เพียงแต่สีน้ำเงินนั้นให้ความรู้สึกไว้ใจ ปลอดภัย และมั่นคงมากกว่าสีชมพูเท่านั้นเอง
สีกับหลักจิตวิทยา
สี (Color) เปรียบเสมือนหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการออกแบบที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือส่งผลต่อผู้รับสารได้ แต่สีแต่ละสีก็ไม่ได้เป็นสิ่งทุกคนบนโลกจะเห็นพ้องต้องกันเป็นความหมายหรือความรู้สึกเดียว 100%
สีแดง ในอเมริกา สื่อถึงความรัก วาเลนไทน์ ในอินเดียกลับมีหลากหลายความหมาย ทั้งความร่ำรวย ความรัก ความบริสุทธิ์ การแต่งงาน ประเทศจีนสื่อถึงปีใหม่ ความโชคดี ส่วนในประเทศไทย สื่อถึงประเทศชาติ (ความเสียสละ) และเป็นสีประจำวันอาทิตย์ เป็นต้น เรื่องวัฒนธรรมก็มีผลต่อการใช้สีและอาจต้องระวัง เพื่อป้องการการสื่อความหมายผิดพลาดเช่นกัน
สีมีผลต่อการตัดสินใจ(ของผู้บริโภค)
Jackie Lohrey บอกว่าผู้คน บริโภค (หรือรับรู้) ด้วยสายตา นั่นหมายความว่า คนตัดสินใจใจจากการมองเห็นก่อน เพราะจากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคตัดสินใจที่จะซื้อหรือไม่ซื้อจากภาพลักษณ์ภายนอกของผลิตภัณฑ์ถึง 93% (ผิวสัมผัส 6% และเสียงหรือกลิ่น 1%) และใช้สีเป็นตัวตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ถึง 85% เลยทีเดียว
ถึงสีจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแบรนด์ แต่ก็มีบทความสำคัญพอ ๆ กับส่วนประกอบอื่น ๆ ที่แสดงถึงตัวตนของแบรนด์ ความรู้สึกของผู้บริโภค เราจะเห็นว่าแบรนด์ใหญ่ ๆ ดัง ๆ ที่ออกแบบโลโก้และสีได้อย่างลงตัวและชาญฉลาด สามารถสร้างการจดจำ เพิ่มยอดขาย และเพิ่มมูลค่าของแบรนด์ได้อย่างมาก
ยกตัวอย่าง (อีกแล้ว) สมมติ เรามีเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาน่าสนใจ ดูน่าเชื่อถือมาก รูปก็สวย มีรีวิวมีรายละเอียด แต่ถ้าเลือกใช้สีไม่เหมาะสมกับธุรกิจ ก็อาจจะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไม่ซื้อ หรือไม่สนใจแล้วกดออกไปเลยก็ได้
คนส่วนใหญ่ จดจำแบรนด์ของคุณจากอะไร
เราทดลองสอบถามกลุ่มบุคคลทั่วไปจำนวนหนึ่ง โดยเราเลือกหมวดธุรกิจการธนาคาร และธุรกิจอาหารและถามว่าเขานึกถึงแบรนด์ไหนจากสีที่เรากำหนด ทำให้เราสรุปคร่าว ๆ ได้ว่าคนส่วนใหญ่จดจำแบรนด์นั้น ๆ จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
- จากประสบการณ์โดยตรงกับแบรนด์ เช่น ลูกค้าธนาคาร ร้านอาหารที่กินบ่อย ๆ สินค้าที่เคยซื้อเป็นประจำ เป็นต้น
source: Franki Chamaki, Unsplash
- จากสื่อรอบตัว เช่น บิลบอร์ด โปสเตอร์ โฆษณาออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ
source: Fox, Unsplash
ตัวอย่างจากผลสำรวจ มีคนนึกถึงธนาคารกสิกรไทย (โจทย์ธนาคารที่ใช้แบรนด์สีเขียว) ถึง 95% ด้วยเหตุผลว่าเคยใช้งานและเคยเห็นโฆษณาบ่อยกว่าแบรนด์อื่น ๆ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารอิสลาม เป็นต้น) รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจน (กราฟฟิกสีเขียว คนใส่เสื้อผ้าสีเขียว องค์ประกอบอื่น ๆ สีเขียว) และอีก 5% ก็ให้เหตุผลเดียวกันจดจำจากประสบการณ์ใช้งาน
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เราเลือกถามถึงแบรนด์ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารกับสีที่เราตั้งโจทย์ให้กับแม่บ้านคนหนึ่ง เขานึกถึงแบรนด์ภูเขาทองเมื่อถึงถึงสีเขียว (ในขณะที่คนส่วนใหญ่นึกถึง BBQ Plaza, ร้านอาหารสลัด) เพราะต้องจับจ่ายซื้อของในครัวบ่อย ยิ่งทำให้มั่นใจว่าการมีประสบการณ์กับแบรนด์ไม่ว่าจากช่องทางไหน ก็มีผลต่อการจดจำจริง ๆ
วิธีเลือกสีที่ใช่ให้ธุรกิจคุณ
ดูจากกลุ่มลูกค้า (Targeted Customers)
งานสำรวจเกี่ยวกับสีและเพศบอกว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบสีน้ำเงิน เขียว หรือดำ และกลุ่มสีน้ำตาล สีส้ม และสีม่วง เป็นสีที่ชอบน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบสีฟ้า (35%) ม่วง (23%) และเขียว (14%) นั่นหมายความว่าถ้ากลุ่มลูกค้าของของธุรกิจคุณคือผู้ชาย ก็ต้องเลือกใช้สีที่ข้องเกี่ยวกัน เป็นต้น
ดูจากคู่แข่ง (Competitor Comparisons)
หากคุณทำธุรกิจอาหาร แล้วคู่เเข่งใช้สีแดงเป็นสีแบรนด์ คุณอาจจะใช้โทนสีแดงก็ได้ แต่ไม่จำเป็นและไม่ตายตัวเสมอไป เพราะความเหมือนอาจจะทำให้คุณกลายเป็นผลิตภัณฑ์เลียนแบบ (Me-too product) ถ้าคุณเป็นเจ้าแรกในตลาด (หรือในวงธุรกิจเรียกว่า Blue Ocean) ก็ต้องเลือกสีที่พิถีพิถันและสื่อถึงตัวคุณเองมากที่สุด การใช้สีที่แตกต่าง(และเหมาะสม) อาจทำให้คุณโดดเด่นในสายตาผู้บริโภคก็ได้
ให้สีสะท้อนตัวตน (Brand Personality)
ถ้าคุณต้องการสร้างแบรนด์ที่ขายเครื่องประดับหรู ก็ควรใช้สีที่สื่อถึงความหรูหรา เช่น สีดำ สีทอง แต่ถ้าเป็นแบรนด์เครื่องประดับที่เน้นราคากลางๆ แต่อยากได้ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตรกับวัยรุ่นผู้หญิง
แบรนด์ที่ดี ไม่ใช่แค่สีที่ใช่ (Color alone is not a brand)
การมีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่จดจำของผู้บริโภค ไม่ได้มีแค่การเลือกสีที่เหมาะกับธุรกิจเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เพราะสีอย่างเดียว ไม่สามารถเป็นแบรนด์ได้
แต่ก่อนที่จะพูดไปถึงสีหรืองานออกแบบ คุณควรมี Brand strategy ที่ชัดเจนก่อนว่าคุณคือใคร พันธกิจมีอะไร ใครคือกลุ่มลูกค้าของคุณ อะไรคือความแตกต่าง เป็นต้น แล้วค่อยเขียน Brand personality (บุคลิกภาพของแบรนด์) และอื่น ๆ
ที่ Senna Labs เราเปลี่ยนไอเดียของคุณให้เป็นจริงได้ มาทดลองไอเดียทางธุรกิจ รวมถึง ตรวจเช็กราคาในการสร้าง Prototype ให้โปรเจกต์ของคุณ แถมเรายังมีทีมที่สามารถช่วยคุณสร้าง MVP เราพร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกแบบงบประมาณ และระยะเวลา พร้อมทีมออกแบบและพัฒนามืออาชีพที่พร้อมจะช่วยทำให้ฝันของคุณเป็นจริง!
ติดตามอ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ รวมถึงงานออกแบบ ได้ที่ Senna Labs Blog
References:
- Understanding Colour Psychology for Restaurants & Brands
- Color Psychology in Marketing and Its Importance in Driving Sales
- Color Psychology of Consumer Decision Making
- โทนสีไหน เหมาะกับธุรกิจอะไร?