ออกแบบโลโก้ยังไงให้ปัง (5 Keys before designing a logo)
เวลาที่ใครสักคนพูดถึงแบรนด์ ๆ หนึ่ง สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวเราอาจจะเป็นโลโก้ แล้วก็มีสิ่งอื่นตามมา เช่น ผลิตภัณฑ์ ประสบการณ์ที่พบเจอจากการใช้บริการ แต่...ก็มีบางครั้งที่พอพูดถึงบางแบรนด์ เรากลับไม่ได้นึกถึงโลโก้ หรือนึกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ นึกออกก็เพียงแต่ผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพราะอะไร?
คำตอบอาจมาจากหลายสาเหตุ ถ้าจะพูดให้เข้ากับบทความนี้ก็คงจะเป็นเพราะโลโก้อาจไม่น่าจดจำ ทำให้คนนึกไม่ออก หรือความถี่ในการใช้บริการกับแบรนด์นั้น ๆ น้อยก็มีผลเช่นกัน และอีกหลายปัจจัย มาดูกันว่าโลโก้ที่ประสบความสำเร็จนั้นใช้หลักการอะไรในการออกแบบ
5 หลักออกแบบโลโก้ยังไงให้ปัง
1. Keep It Simple เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน
“I strive for two things in design: simplicity and clarity.
Great design is born of those two things.”Lindon Leader
ถ้ากฏการออกแบบโลโก้ในโลกนี้มีแค่ 1 ข้อ ก็คือข้อนี้ล่ะครับ ต้องออกแบบให้ดูเรียบง่าย และชัดเจน แล้วข้ออื่น ๆ ก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ ลองนึกถึงโลโก้ในโลกนี้ดูก็ได้ว่า อันไหนที่คุณจดจำได้ดี ถ้าจะให้ advance ขึ้นมาหน่อย อันไหนที่คุณวาดออกมาได้ใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด แล้วอาจจะประหลาดใจว่าโลโก้ที่คุณนึกหรือวาดเหล่านั้นมีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนเลย ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อการจดจำแน่นอน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะออกแบบโลโก้ที่มีรายละเอียดเยอะ ๆ ไม่ได้ เพียงแต่โลโก้ที่มีรายละเอียดเยอะไมได้สื่อถึงความเป็นมืออาชีพเสมอไป โลโก้ที่มีรายละเอียดบางอันอาจดูสวย แตกต่าง และน่าดึงดูด แต่สุดท้ายมันจะไม่ถูกจดจำ เพราะด้วยรายละเอียดที่มากไป และดูงุนงง
พูดสั้น ๆ ได้ว่า โลโก้ที่มีความเรียบง่าย จะสามารถสื่อสารออกไปและให้คนจดจำได้ง่ายกว่า เพราะรายละเอียดที่ใช้น้อยกว่านั่นเอง สาเหตุที่ต้องออกแบบให้ simple นั้นมีเหตุผลอยู่ ซึ่งจะขออธิบายในข้อถัด ๆ ไป
ตัวอย่างภาพโลโก้ของธนาคารที่มีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน
2. Relevant/Appropriate มีความเกี่ยวข้อง เหมาะสม
โลโก้ที่ดี เป็นมากกว่าดีไซน์ที่สวยงาม และควรสะท้อนประเภทของธุรกิจ หรือกลุ่มลูกค้าชัดเจนตั้งเเต่แรกเห็น สี รูปร่าง ฟอนต์ที่เลือกใช้ ล้วนบ่งบอกธุรกิจได้ทั้งนั้น (แนะนำอ่านบทความ Colors in Business: สีเปลี่ยนธุรกิจ เพิ่มเติม) เช่น ถ้าเห็นโลโก้ที่ฟอนต์อวบอ้วนน่ารัก ๆ กระโดดไปมา สีสันสดใส ก็อาจจะเดาได้ว่าน่าจะเกี่ยวกับของเล่น หรือเด็ก ถ้าเห็นโลโก้ ที่ใช้ฟอนต์ที่มีเชิง (Serif font) ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และมีสีดำ ก็อาจจะเป็นธุรกิจที่ต้องการสื่อถึงความจริงจัง น่าเชื่อถือ และมืออาชีพ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ไม่มีใครห้ามว่าต้องอยู่แต่ในกรอบเสมอไป และไม่จำเป็นที่โลโก้จะต้องบ่งบอกธุรกิจซะทีเดียว (ยกตัวอย่าง โลโก้ Apple ไม่ได้สื่อถึงผลิตภัณฑ์หรือบริษัทแต่อย่างใด) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่จำเป็นต้องออกเเบบให้มีรูปบ้านหรือตึก สถานที่ออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องใช้รูปดัมเบล หรืออุปกรณ์ออกกำลังกาย แต่สามารถใช้อย่างอื่นที่สื่อถึงความเเข็งแรง หรือเรื่องราวส่วนตัวเป็นแรงบันดาลใจ
แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีที่มาที่ไป หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจทางใดทางหนึ่ง ซึ่งยิ่งชัดเจนยิ่งส่งผลต่อความเข้าใจของลูกค้า
โลโก้ ปตท. เห็นเเล้วเข้าใจได้ว่าน่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับเชื้อเพลิง หรือพลังงาน ในขณะที่โลโก้บีทีเอส สามารถสื่อถึงเส้นทางการเดินรถและการคมนาคมได้
3. Versatility ยืดหยุ่น ใช้งานได้หลากหลาย
หลายครั้งที่เรามองงานออกแบบโลโก้เแค่ภาพสั้น ๆ แต่ไม่ได้นึกถึงตอนที่จะต้องนำไปใช้งานจริง แล้วพบว่าไม่ได้เป็นเหมือนที่วาดฝันไว้ ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มออกแบบโลโก้ ต้องคำนึงว่าจะใช้กับอะไรบ้าง ทั้งงาน offline และ online เช่น นามบัตร รูป วิดีโอ เว็บไซต์ สื่อออนไลน์ โปสเตอร์ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เป็นต้น
การออกแบบโลโก้ให้ยืดหยุ่น สามารถใช้งานได้หลากหลาย จึงเป็นสิ่งที่ดี และนอกจากขนาดที่ปรับเล็กใหญ่ได้ตามโอกาสแล้ว ควรเตรียมโลโก้ทั้งแบบสี และแบบขาวดำ (หรือแบบอื่น ๆ หากมี) และตรวจสอบว่าสามารถเห็นได้ชัดเจนทุกขนาดหรือไม่ เป็นต้น
เพราะต้องยืดหยุ่นนี่เอง ทำให้เราต้องออกแบบโลโก้ให้เรียบง่ายที่สุด เพราะถ้ารายละเอียดมากไป ก็จะไม่เห็นเมื่อถูกย่อขนาดลงนั่นเอง
โลโก้ของการบินไทย สามารถปรับใช้ได้ตั้งเเต่ตั๋วเดินทาง ไปจนถึงสัญลักษณ์ข้างเครื่องบิน
(รูปจาก Brandnewday)
4. Uniqueness มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
การออกแบบโลโก้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากคือทำยังไงให้ต่างและมีเอกลักษณ์ในแบบของตัวเอง ลองศึกษาโลโก้ของคนอื่นก่อนที่จะลงมือทำของตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไปเหมือนหรือคล้ายกันเกินไป การเป็นแกะดำในฝูงแกะขาวย่อมดีกว่าเป็นแกะขาวที่สวยงามเหมือนตัวอื่น ๆ เพราะอย่างน้อยคุณจะถูกจดจำในความต่างนั้น
ยกตัวอย่าง ร้านกาแฟคาเฟ่ อะเมซอน ที่มีองค์ประกอบด้านหลังเป็นเสมือนป่า มีนกแก้วเกาะบนกิ่งไม้ ให้ความรู้สึกสัมผัสธรรมชาติ แม้ตัวโลโก้จะไม่ได้บ่งบอกถึงกาแฟโดยตรง แต่ก็สร้างตัวตนท่ามกลางร้านกาแฟที่มีอยู่ทุกหัวมุมได้เป็นอย่างดี
หรือเเม้แต่เเบรนด์สิงห์เอง ก็สร้างเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาจากสัตว์ในวรรณคดีตามชื่อแบรนด์ ที่แม้จะเอาชื่อ Singha ออก คนก็ยังจำได้ เพราะคนส่วนใหญ่รู้จักสิงห์อยู่แล้วด้วย และแบรนด์สิงห์เองก็ทำโลโก้โดยใช้สัตว์หิมพานต์ตัวนี้ก่อนใครเพื่อน จนกลายเป็นภาพจำในตลาดไปแล้ว นอกจากนั้นจากใช้สัญลักษณ์รูปสิงห์กับผลิตภัณฑ์ในเครือทั้งหมด ทั้งเบียร์ โซดา น้ำดื่ม และอื่นๆ เพื่อให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นที่จดจำมากขึ้นอีกด้วย
ตัวอย่างภาพโลโก้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
5. Memorable เป็นที่น่าจดจำ
พยายามออกแบบโลโก้ที่คนเห็นไม่กี่ครั้งก็จำได้ ไม่ว่าจะจำได้ทั้งหมด หรือแค่ส่วนประกอบบางส่วนก็ตาม โดยอาศัยสี ไอคอน ตัวหนังสือ และ 5 หลักการออกแบบทั้งหมดนี้มาช่วยในการออกแบบ เพราะการที่คนจำโลโก้ได้ จะช่วยให้คนจดจำแบรนด์และประสบการณ์ของแบรนด์ได้ด้วย
จำไว้ว่า ยิ่งโลโก้มีรายละเอียดหรือองค์ประกอบมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งยากต่อการจดจำเท่านั้น
ขอยกตัวอย่าง Nike (อีกครั้ง) กับ Adidas ทั้งสองแบรนด์นี้ทำธุรกิจรองเท้ากีฬาเหมือนกัน แต่มีอันหนึ่งที่คนจดจำได้ง่ายกว่า เราได้ทดสอบโดยให้คนลองวาดสัญลักษณ์ของทั้งสองโลโก้ ปรากฏว่า Nike ซึ่งมีรายละเอียดน้อยกว่าทำให้คนจดจำง่าย (และไม่มีทิศทางที่ผิด) ในขณะที่ Adidas มีแถบถึงสามเส้น และมีหลายคนไม่มั่นใจว่าโลโก้ที่ถูกต้องเรียบแถบไปทิศทางไหน
อาจพูดได้ว่าทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีโลโก้ เพราะโลโก้เปรียบเสมือนประตูที่จะเชื้อเชิญหรือขับไล่ลูกค้าให้ผ่านไปได้ แต่โลโก้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแบรนด์เท่านั้น ถึงโลโก้จะสวยงามหรือถูกออกแบบตามทั้ง 5 ข้อนี้ แต่หากเว็บไซต์ โฆษณา โซเชียลมีเดีย การบริการ วิธีการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ไ่ด้สะท้อนภาพลักษณ์องค์รวมของธุรกิจออกมาชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าไม่ได้ โลโก้ก็คงไม่มีความหมาย ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องเกื้อหนุนกันและกัน จึงจะประสบความสำเร็จ