Fulfillment Latest Trend: แนวโน้มธุรกิจคลังสินค้าในปี 2566
ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-commerce เติบโตได้รวดเร็วมาก และส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจ”คลังสินค้า” และ”โลจิสติกส์” เป็นที่ต้องการมากขึ้น เกิดการแข่งขันที่จริงจัง และพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้อุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ธุรกิจคลังสินค้า เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญในวงจรเศรษฐกิจอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการขนส่งโลจิสติกส์อย่างใกล้ชิด
ปัจจุบันในปี 2566 แนวโน้มธุรกิจคลังสินค้ายังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และผู้ประกอบการธุรกิจคลังสินค้าเริ่มปรับตัวโดยเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการจากดั้งเดิมที่เรียกว่า Traditional Warehouse ซึ่งมีเพียงแค่สาธารณูปโภคและความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน มาใช้ระบบเทคโนโลยีในรูปแบบ Modern Warehouse เพื่อให้ยกระดับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ผู้ให้บริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์ในปัจจุบันได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมกระบวนการด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดและมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดดเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้แล้ว ผู้ให้บริการคลังสินค้าหลายราย ได้ลงทุนเทคโนโลยีสนับสนุนด้านการจัดการออเดอร์สินค้าออนไลน์ตลอดกระบวนการตั้งแต่การเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อรับออเดอร์จาก Marketplace การจัดเตรียมสินค้า การหยิบและแพ็กสินค้า ไปจนถึงการจัดส่งให้แก่ลูกค้าปลายทาง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ได้เป็นอย่างมาก ลดเวลา ปัญหาเรื่องคน ความผิดพลาด และปัญหาเรื่องตัวสินค้าอีกด้วย
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจคลังสินค้าในปี 2566 ได้แก่
- การพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมภายใต้โครงการ EEC ที่ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในภาคการผลิตให้นักลงทุนขยายฐานการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งกระตุ้นให้มีการบริโภคและจับจ่ายใช้สอยและส่งผลให้ภาคการผลิต คลังสินค้าและการขนส่งมีแรงหนุนให้เกิดการเติบโตต่อเนื่องได้
- การเติบโตของธุรกิจ E-commerce และโลจิสติกส์ ช่วยให้ธุรกิจคลังสินค้ามีความต้องการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น
แนวโน้มการขยายคลังของธุรกิจคลังสินค้าในปี 2566 จะเป็นการขยายในพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมใกล้แหล่งผลิต ใกล้แหล่งผู้บริโภค และเขตชายแดนมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการจัดเก็บและขนส่ง ใช้เวลาดำเนินการที่ลดลง เกิดประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้น
คลังสินค้าทั่วไป มีอัตราความต้องการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี สอดคล้องตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราการให้บริการคลังเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ต่อปี ซึ่งอุปทานที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าอุปสงค์ ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 80-90%
คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ มีความต้องการทรงตัวในขณะที่อุปทานส่วนเกินยังมีค่อนข้างสูง เนื่องจากการขยายพื้นที่ให้บริการในช่วงปีก่อนหน้าแล้ว
คลังสินค้าธัญพืช (ไซโล) มีความต้องการที่ผันผวนตามผลผลิตทางการเกษตร แต่คาดว่าความต้องการจะลดน้อยลงในปี 2566-2567 จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและพฤติกรรมผู้ผลิตที่จัดเก็บสินค้าไว้ที่คลังของตนเอง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อุตสาหกรรมคลังสินค้าและโลจิสติกส์มีการประยุกต์นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างกว้างขวางจนเป็นอุตสาหกรรมที่มีรุดหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นที่สนใจของบรรดานักลงทุนอีกจำนวนมาก และปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ก็ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม อาทิเช่น ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้มีการปรับตัวและเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้เช่นกัน ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงตามมา คือ การเปลี่ยนแปลงในอุปทานที่ส่งผลต่อรายได้ค่าบริการเฉลี่ยในอุตสาหกรรมที่อ้างอิงตามหลักอุปสงค์อุปทาน ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องทั้งปัจจัยด้านการแข่งขัน การดำเนินงาน การใช้เทคโนโลยี เพื่อรักษาระดับรายได้และตอบสนองความต้องการเพื่อรักษาฐานลูกค้าให้มีความมั่นคงและเติบโตต่อไปได้
สุดท้ายแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจและเทคโนโลยีก็ต่างเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อยกระดับการให้บริการ นำไปสู่ความสะดวกสบายของผู้บริโภคและศักยภาพในการดำเนินงานธุรกิจที่เกิดผลกำไรที่ต่อเนื่อง เพื่อผลักดันนวัตกรรมให้มีการยกระดับการพัฒนาต่อไปในอนาคต