ภาษา และการทับศัพท์ เขียนยังไงให้ถูก (Language and Transliteration)
เดี๋ยวนี้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้ง่าย มีเนื้อหาที่เป็นภาษาไทยเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะคนไทยมีความรู้และเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชาหันมาเขียนบทความเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายการตลาด ธุรกิจ งานออกแบบ หรือสายพัฒนาซอฟต์แวร์ ยิ่งไปกว่านั้นการเผยแพร่ยิ่งทำได้ง่ายผ่านสื่อออนไลน์ กลายเป็นการสร้างฐานคนอ่านที่ติดตามจำนวนมาก และเป็นอีกทางที่สร้างรายได้ทางอ้อมสำหรับหลาย ๆ คนด้วย
ภาษา กับการสื่อสาร
ภาษา ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง หากเราสื่อสารผิดก็อาจทำให้เกิดความสับสน และด้วยระดับของภาษาที่มีมากกว่าหนึ่งระดับ ตั้งเเต่แบบกันเองไปจนถึงทางการ อย่างเช่นในบทความนี้ใช้ภาษากึ่งทางการ คือใช้ภาษาเขียน แต่มีภาษาพูดอยู่บ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ผิดต่อ ๆ กันไป จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องให้ตรงตามหลักที่ภาษานั้น ๆ บัญญัติไว้ก่อนเสมอ
ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน
ภาษาอังกฤษเองเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยเราแบบแทบไม่รู้ตัว ตั้งเเต่การพูดคุย ไปจนถึงการเขียน เช่น “มีคนคอมเพลน (Complain) เรื่องสตาฟ(Staff) เข้างานสาย” หรือ “บริษัททำโพรฟิต(Profit)ได้ไม่ดีเท่าไหร่ ปีนี้เลยไม่ได้โบนัส(Bonus)สักคน” เป็นต้น
ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นคำที่เขียนผิดตามหลักการทับศัพท์ ถ้าไม่ได้นำเอามาเขียนก็คงไม่มีปัญหา เพราะเวลาพูด เราพูดออกเสียงยังไงก็ได้ แต่พอต้องสะกดมักจะเกิดความสับสนว่า คำ ๆ นี้เขียนยังไงกันแน่
หากสังเกตดี ๆ เราจะเห็นคำหนึ่งคำที่มีการเขียนไม่เหมือนกันในหลาย ๆ ที่ ตั้งเเต่ป้าย เมนู โฆษณา ไปจนถึงสเตตัสของเพื่อนคุณบนเฟซบุ๊ก ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีหลักในการเขียนเทียบคำภาษาอังกฤษในภาษาไทย เราเรียกว่า การทับศัพท์
การทับศัพท์ คืออะไร
พูดง่าย ๆ คือการเทียบตัวอักษรจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง โดยบ้านเราผู้ที่ออกหลักการทับศัพท์และดูแลก็คือ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
แล้วสำคัญยังไง? ทำไมต้องทับศัพท์
- เพื่อให้การใช้ภาษา(เขียน)เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เลี่ยงปัญหาการเจอคำที่เขียนไม่เหมือนกัน สร้างความสับสน เช่น Like มีคนเขียนเป็น ไล้ ไลก์ ไล้ก์ ไล้ค์ ไลค์ (คำที่เขียนถูกต้องคือ Like = ไลก์)
- ทำให้งานเขียนของคุณ มีคุณภาพ น่าเชื่อถือมากขึ้น ยกตัวอย่าง หากเจอคนเขียน font เป็นฟ้อน กับ ฟอนต์ และเรารู้ว่าคำไหนเขียนถูก เราก็จะรู้สึกเชื่อถือคนที่เขียนถูกมากกว่าอีกคน
วันนี้จึงอยากจะมาเเชร์หลักการทับศัพท์ และเกล็ดเล็กเกล็ดน้อย เพื่อให้ใช้ภาษา(เขียน) เป็นมืออาชีพมากขึ้น ถูกต้องมากขึ้น โดยบทความนี้จะพยายามยกตัวอย่างคำหรือศัพท์ IT และ Design มากกว่าคำทั่วไปหน่อย
หลักการทับศัพท์ภาษาอังกฤษแบบย่อ (และเข้าใจง่าย)
1. ต้องรู้สระ และพยัญชนะเทียบก่อน
สระนั้นเทียบเสียงตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษได้เลย เช่น a เป็น อะ อา เอ แอ หรือ u เป็น อุ อู ส่วนพยัญชนะก็ถอดตามหลักเกณฑ์ภาษาไทย เช่น d เป็น ด f เป็น ฟ แต่ก็อาจมีบางพยัญชนะที่เทียบได้มากกว่า 1 ตัว เช่น k ถ้าเป็นพยัญชนะต้นใช้ ค ถ้าเป็นตัวสะกดหรือการันต์ใช้ ก เป็นต้น
Inbox =อินบ็อกซ์
Bit = บิต
Megabyte = เมกะไบต์
2. ต้องอ่านคำ(ภาษาอังกฤษ)ออก
เราจะทับศัพท์ไม่ได้ ถ้าไม่รู้ว่าคำนั้น ๆ อ่านออกเสียงอย่างไร เช่น คำว่า Analogue มันสามารถอ่านเป็น a-na-lo-gue หรือ an-alo-gue ก็ได้ แต่คำนี้ทับศัพท์ได้ว่า อะนาล็อก เป็นต้น
3. ให้ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต (์) เมื่อ...
- (พยัญชนะตัวนั้น) ไม่ออกเสียงในภาษาไทย
Wireless = ไวร์เลส (ร ไม่ออกเสียง) Benchmark = เบนช์มาร์ก Barcode = บาร์โคด/บาร์โค้ด(คำนิยม)
- ตัวสะกดมีพยัญชนะหลายตัว ให้ใส่ ์ พยัญชนะที่ตัวสุดท้าย
Catridge = คาทริดจ์
- คำหรือพยางค์ที่มีพยัญชนะไม่ออกเสียงอยู่หน้าตัวสะกด ที่ยังมีพยัญชนะตามมา ให้ตัดตัวหน้าตัวสะกดออกแล้วเครื่องหมายทัณฑฆาตที่ตัวสุดท้าย
World = เวิ(ร)ล์ด First = เฟิ(ร)สต์
4. ใส่ไม่ไต่คู้ (็) เพื่อ
- ให้ต่างจากคำไทย
Backend = แบ็กเอนด์ (แบก มีความหมายในภาษาไทย และ back ออกเสียงสั้นจึงใส่ ็)
- แยกพยางค์ให้ชัดเจน อ่านแล้วไม่สับสน
Method = เมท็อด (ถ้าไม่ใส่จะเป็น เมทอด ซึ่งอ่านว่า เมท-อด ได้)
- ใส่วรรณยุกต์ ( ่ ้ ๊ ๋ ) เมื่อเสียงซ้ำกับคำไทย หรือคำนั้นมีการใส่วรรณยุกต์ก่อนที่จะมีการตั้งหลักเกณฑ์ฯ นอกนั้นไม่ใส่เลย
Coke = โค้ก (โคก มีความหมายในภาษาไทย) Coma = โคม่า
หมวดพยัญชนะ และตัวสะกดที่มักเขียนผิดบ่อย ๆ
-
พยัญชนะ C
C พยัญชนะใช้ ค เช่น Code = โค้ด Concept = คอนเซปต์ C ตัวสะกดใช้ ก ซ เช่น Account = แอ็กเคานต์ Commerce = คอมเมิร์ซ
-
พยัญชนะ K
K พยัญชนะใช้ ค เช่น Keyword = คีย์เวิร์ด K ตัวสะกดใช้ ก เช่น Link = ลิงก์
-
พยัญชนะ P
P พยัญชนะใช้ พ เช่น Project = โพรเจกต์ Platform = แพลตฟอร์ม P ตัวสะกดใช้ ป เช่น Loop = ลูป Support = ซัปพอร์ต
-
พยัญชนะ T
T พยัญชนะใช้ ท เช่น Digital = ดิจิทัล Thumbnail = ทัมบ์เนล T ตัวสะกดใช้ ต เช่น font = ฟอนต์ Format = ฟอร์เเมต
หมายเหตุ ทุกพยัญชนะจะมีข้อยกเว้น หรือหลักการใช้แตกต่างกันไป โปรดศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารการทับศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยราชบัณฑิตยสถาน
ดังนั้น คำเฉลยคำทับศัพท์ หรือคำเขียนของคำว่า Comment ที่ถูกต้องก็ต้องเป็น คอมเมนต์ ไม่ใช่ คอมเม้นท์ คอมเม้น คอมเม้นต์ แต่อย่างใดนะครับ :)
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีการออกหลักการทับศัพท์ออกมา ก็มีหลักและเงื่อนไข รวมถึงข้อยกเว้นจำนวนหนึ่ง ที่ผู้ศึกษาต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจพอสมควร แต่ผู้เขียนมองว่ามันเป็นประโยชน์รู้ไว้ใช่ว่าดีกว่าเขียนผิดโดยไม่รู้หลักการ หวังว่าบทความนี้จะพอทำให้เข้าใจหลักการทับศัพท์มากขึ้น และช่วยให้เขียนผิดน้อยลง หากใครต้องการศึกษาข้อมูลโดยละเอียด สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ในเอกสาร หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ของราชบัณฑิตยสถาน
และอย่าลืมติดตามอ่านบทความดี ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Machine Learning, Startup, Design, Software Development และ Management ได้ทุกวันทาง Senna Labs Blog นะครับ