Startup คืออะไร? ธุรกิจคุณอยู่ในประเภทไหน
เชื่อว่าในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเรามากขึ้น คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักคำว่า Startup ผู้อ่านหลายท่านอาจจะได้เป็นผู้ใช้บริการ หรือแม้แต่อยากที่จะสร้าง Startup ของตนเอง ดังนั้นการที่เรารู้ว่า Startup มี่กี่ประเภท และใช้วิธีไหนในการจำแนกออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ก็จะทำให้เราเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายหมายที่ต่างกัน เพื่อการวางแผน และกลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้เหมาะสมกับประเภทนั้น ๆ
ในบทความนี้จะกล่าวถึงความหมายของ Startup รวมถึงการจำแนกประเภทออกเป็น 6 กลุ่ม โดยใช้หลักการแบ่งจาก Steve Blank บุคคลที่ขึ้นว่าเป็นบิดาแห่ง Startup
Startup คืออะไร?
Startup แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่า เริ่มต้นขึ้น เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกธุรกิจขนาดเล็กที่เกิดขึ้นใหม่ Steve Blank บุคคลที่ได้ชื่อว่าบิดาแห่งวงการ Startup เคยให้นิยามไว้ว่า
“A startup is an organization formed to search for a repeatable and scalable business model”
แปลง่าย ๆ ว่าเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเสาะหาโมเดลธุรกิจที่สามารถทำซ้ำได้และขยายตัวได้
(Image: medium.com)
(Image: medium.com)
ประเภทของ Startup
1. The Lifestyle Startup
ก็คือการทำธุรกิจตามไลฟ์สไตล์ งานอดิเรก สิ่งที่รัก และมี Passion ไปกับมัน นักธุรกิจประเภทนี้ต้องการทำธุรกิจที่สามารถเติมเต็มความชอบของตนเองได้ ยกตัวอย่าง เช่น นักดนตรี หรือบุคคลที่หลงใหลในเสียงเพลง เปิดโรงเรียนสอนดนตรีเพื่อที่ตนเองจะได้ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชอบ เป็นต้น
2. Small Business Startup
ธุรกิจขนาดเล็ก เปรียบเสมือนธุรกิจในครัวเรือนที่ถูกบริหารจัดการโดยตัวของผู้ก่อตั้งเอง เพื่อเลี้ยงชีพคนในครอบครัว ธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้ขยายตัวได้ (Scalable) เราจึงไม่ค่อยเห็นธุรกิจขนาดเล็กนี้เติบโตจนขึ้นหน้าปกนิตยสาร หรือมีรายได้มากเป็นพันล้าน
ส่วนเงินทุนที่นำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ส่วนมากมาจากเงินเก็บ เงินกู้จากธนาคาร หรือแม้แต่เงินที่ยืมมาจากเครือญาติ นอกจากนั้นการจ้างงานส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่หรือคนในครอบครัว สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นธุรกิจครอบครัว (Family business) ได้อย่างชัดเจน
ร้านขายของชำ ร้านทำผม ธุรกิจให้คำปรึกษา บริษัทนำเที่ยว ช่างไม้ ช่างประปา เป็นตัวอย่างของธุรกิจประเภทนี้
3. Scalable Startup
ธุรกิจประเภทนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการใน Silicon Valley และนักลงทุนใฝ่ฝันที่จะสร้างขึ้นมา พวกเขามองการณ์ไกลมากกว่าที่จะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ เจ้าของธุรกิจต้องการสร้างบริษัทที่ทำเงินได้มหาศาล หรือสามารถเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้น ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้
Scalable Startup ต้องอาศัยการลงทุนที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงจาก Venture Capitalist หรือ VC ซึ่งเป็นกองทุนที่รวบรวมเงินลงทุนมาจากผู้ลงทุนอื่นที่สนใจร่วมทุนในธุรกิจนั้น ๆ นอกจากนั้นการจ้างงานจะเน้นไปที่การดึงตัวคนเก่งและฉลาดมารวมกันเพื่อให้เกิดการขยายตัวให้เร็วที่สุดจากเงินลงทุนที่ได้มา ซึ่ง Google, Skype, Facebook และ Twitter เป็นตัวอย่างของธุรกิจประเภทนี้
4. Buyable Startup
บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ เป็นตัวอย่างของ buyable startup บริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะถูกซื้อกิจการโดยบริษัทขนาดใหญ่ ด้วยต้นทุนที่ถูกลงในการผลิตและการเข้าถึงตลาดที่รวดเร็วกว่าสินค้าประเภทอื่น นักลงทุนที่เป็น angle investor ก็ไม่ต้องลงทุนมาก ทำให้การขายกิจการให้กับบริษัทขนาดใหญ่เป็นกลยุทธ์ในการทำกำไรให้ buyable startup
5. Large Company Startup
โดยปกติแล้วบริษัทขนาดใหญ่จะมี life cycle ที่ค่อนข้างชัดเจน ตั้งแต่การเริ่มต้นเข้าสู่ตลาด จนถึงช่วงออกจากตลาด และในปัจจุบันนั้น life cycle ของผลิตภัณฑ์ก็ยิ่งสั้นลงเรื่อย ๆ แล้วบริษัทควรจะทำอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดตามความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการเพิ่มขึ้นของบริษัทคู่แข่ง?
คำตอบก็คือ เจ้าของธุรกิจจะต้องปรับตัวให้เร็วด้วยการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ (Disruptive Innovation) บางบริษัทถึงกับต้องผลิตสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอื่น หรือแม้แต่เข้าซื้อบริษัทอื่น เช่น buyable startup เพื่อเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
6. Social Startup
นักธุรกิจเพื่อสังคมมีเป้าหมายที่แตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มี passion ที่อยากจะประสบความสำเร็จ เพียงแต่เป้าหมายของพวกเขาคือการทำให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยที่ไม่สนใจส่วนแบ่งการตลาดหรือสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ประกอบการณ์เอง เราจะสามารถพบ social startup ในรูปแบบขององค์กรที่แสวงหากำไร ไม่แสวงหากำไร หรือเป็นแบบผสมก็ได้
Startup แต่ละประเภทมี ecosystem ที่แตกต่างกันก็มีการบริหารจัดการที่ต่างกันออกไป ถึงแม้ว่าในปัจจุบันคนจะมองว่าภาพจำของบริษัทสตาร์ตอัปคือบริษัทที่เติบโตด้วยเทคโนโลยีล้ำ ๆ และ scale ออกไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจสตาร์ตอัปอีกหลายประเภทตามหลักของ Steve Blank เพื่อให้ผู้ที่ต้องการดำเนินธุรกิจนำไปปรับใช้เช่นกัน ดังนั้น หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับเจ้าของกิจการทุกท่านไม่มากก็น้อย
สำหรับท่านใดที่มีไอเดียการทำ Startup หรือต้องการทำ MVP สามารถปรึกษา Senna Labs ได้ฟรีที่ >> contact us
อ้างอิง:
- Why Governments Don’t Get Startups by Steve Blank