It Doesn’t Have to Be Crazy at Work: ทำงานอย่างไรไม่ให้เป็นบ้า!
ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่รักษาความสมดุลระหว่าง งาน-สุขภาพ-ความสัมพันธ์ เราได้ยินแบบนี้กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ทำได้ไม่จริงสักเท่าไหร่ ยิ่งช่วง Work from home แบบนี้ ดูเหมือนว่า เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวยิ่งเลือนลาง หลาย ๆ ครั้ง ความอยากได้อยากมี Work-Life Balance ที่ดี กลับกลายเป็นความกดดันที่ทำให้เราเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว แล้วแบบนี้ชีวิตทำงานในอุดมคติควรเป็นอย่างไร?
วันนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแง่คิดจากหนังสือชื่อดังเรื่อง It Doesn’t Have to Be Crazy at Work เขียนโดยผู้บริหาร Basecamp บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติอเมริกาแห่งหนึ่ง เราเลือกที่จะหยิบบางประเด็นที่สอดคล้องกับชีวิตการทำงานที่ Senna Labs มาเพื่อแสดงให้เห็นว่า การทำงานให้มีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องทำงานหนักจนเป็นบ้าเสมอไป
บริษัทคือสินค้า
ในประเด็นข้อแรกนี้ที่ Basecamp กับ Senna Labs มีความต่างเรื่องวัฒนธรรมบริษัทอยู่บ้าง
Basecamp มองว่า บริษัทเป็นเหมือนสินค้า โดยมาจากฐานความเชื่อที่ว่าสินค้าเปิดรับความเป็นไปได้ในการพัฒนาทุกรูปแบบ การมองเช่นนี้จะทำให้เราตั้งคำถามที่ต่างออกไป ทำให้มองเห็นและกล้าวิพากษ์วิจารณ์วิธีการทำงานได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น อะไรที่เร็ว ช้า ซับซ้อนเกินความจำเป็น ก็จะได้รับการแก้มองเห็นและแก้ไขได้ทันท่วงที
สำหรับ Senna Labs เราทำงานกันแบบ Agile การทำงานมีความคล่องตัว และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การสื่อสารเพื่อรับ Feedback ทั้งจากลูกค้าและทีมงาน ที่นี่เราเปิดรับทั้ง Positive และ Constructive Feedback ซึ่งเป็น Feedback ที่เน้นให้ผู้รับได้ประโยชน์และนำไปพัฒนาต่อ โดยตัดอารมณ์และเรื่องส่วนตัวออกไปขณะที่ให้ Feedback นอกจากนี้ที่ Senna Labs จะมีความต่างกับ Basecamp ในเรื่องของวัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัว พนักงานจะมีความสนิทสนมกันในขณะที่สามารถให้ Feedback กันอย่างตรงไปตรงมาได้ด้วย
Image : Tim Gouw Unsplash
ทำงานเกิน 8 ชั่วโมงไม่ใช่คำตอบ
Basecamp มีนโยบายหนึ่งที่น่าสนใจคือ ระยะเวลาการทำ Project หนึ่งใช้เวลาราว 6 สัปดาห์ หากทำได้ครบตามเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด ก็สามารถไปพักผ่อน ท่องเที่ยวได้ถึง 2 อาทิตย์ ผู้บริหารที่นี่เชื่อว่า การทำงานครบ 8 ชั่วโมงไม่ได้แปลว่า ผู้ทำงานมีประสิทธิภาพเสมอไป เพราะบ่อยครั้ง การทำงานมักถูกรบกวนด้วยการประชุม และสิ่งก่อกวนสมาธิต่าง ๆ ดังนั้น ถ้าเราไม่สามารถทำงานให้ถึงเป้าหมายตามเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การแก้ไขไม่ใช่เพิ่มเวลาการทำงานให้นานกว่าเดิม แต่เป็นการเลือกที่จะตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไปต่างหาก
ที่ Senna Labs เองก็เช่นกัน เราเลือกมองที่ตัวผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ เราไม่ได้ให้คุณค่ากับการทำงานแบบเอากลับไปทำต่อเวลานอก ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมีอิสระ สามารถ Work from anywhere ตราบใดที่งานเสร็จลุล่วง ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละ Sprint หรือรอบระยะเวลาทำงานที่กำหนด
Image: Studio republic, unsplash
เป็นอิสระต่อกัน Autonomy
Basecamp และ Senna Labs ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบมี Autonomy เหมือนกัน การทำงานในยุคสมัยนี้ต้องเน้นความว่องไวให้ทันความเปลี่ยนแปลง บริษัทส่วนใหญ่จะมีความยึดโยง ต้องรอคอยกันและกัน ไม่สามารถตัดสินใจ หรือกระทำบางอย่างได้อิสระ ยกตัวอย่างเช่น เวลาจะปล่อยฟีเจอร์ใหม่ก็ต้องปล่อยออกมาทีเดียว ถ้าอันใดอันหนึ่งไม่สมบูรณ์เรียบร้อย ก็ไม่สามารถปล่อยออกมาได้
ในทางตรงกันข้าม Basecamp และ Senna Labs กลับมองว่า การทยอยปล่อยออกมาทีละฟีเจอร์ เพื่อให้ถึงมือลูกค้าได้ไวเป็นข้อดีเสียอีก ทำให้เราได้ Feedback กลับมาแก้ไขงานอย่างรวดเร็ว ทำให้สุดท้ายผลที่ได้งานออกมาตรงใจลูกค้า และที่สำคัญคือ ทีมงานไม่ต้องปวดหัวกับการแก้ไขทีละมาก ๆ
สุดท้ายนี้ ชีวิตการทำงานของมนุษย์ จะต้องใช้เวลากว่า 80,000 ชั่วโมง จะดีกว่าไหม ถ้าคุณไม่ปลูกฝังและส่งต่อค่านิยมแบบผิด ๆ ให้คนในองค์กรทำงานหนักจนป่วย แต่เลือกที่จะมีชีวิตการทำงานแบบสงบสุข ทำงานอย่างมีความสุขไปได้เรื่อย ๆ ในแต่ละวัน ไม่ทุกข์หนักจนเกินไป มีเวลาให้ตัวเองและครอบครัว แถมยังประสบความสำเร็จไปด้วยกันได้ โดยไม่ทำงานจนเป็นบ้าไปเสียก่อน