Indistractable: จะหลุดพ้นจากสิ่งรบกวน และมีสมาธิอย่างไรในยุคดิจิทัล?
ทุกคนคงเคยตั้งเป้าหมายบางอย่างเอาไว้ แต่ถึงเวลาทำจริงกลับไม่สำเร็จ และในยุคสมัยนี้ดูเหมือนว่า ชีวิตเรามีสิ่งล่อตาล่อใจที่ดึงเวลาเราไปมากมาย ขณะที่สิ่งสำคัญที่ต้องจัดการก็เต็มไปหมด คุณเคยได้ยินหรือพูดประโยคเหล่านี้ในที่ทำงานไหม? ติดประชุมด่วนไม่ว่างแล้ว! โทษทีนะ ยังทำไม่เสร็จ พอดีมีงานมาแทรก… และอีกสารพัดประโยคยอดฮิต ที่หลายครั้งเรามักจะโทษปัจจัยภายนอกมากกว่ามองว่าสาเหตุอาจมาจากตัวเราเอง
Nir Eyal ที่ปรึกษาบริษัท Tech Startup ยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook Twitter Instagram LinkedIn และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง Hooked: How to Build Habit-Forming Products ที่เผยเบื้องหลังอาการติดโซเชียลมีเดียว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันผ่านกระบวนการออกแบบให้ผู้ใช้งานติดอย่างจงใจ
หลังจากเปิดตัว Hooked ได้ไม่นาน เขาก็เปิดตัว Indistractable: How to Control Your Attention and Choose Your Life ที่มาเผยเคล็ดลับการเป็นอิสระจากสิ่งรบกวน ซึ่งวันนี้ผู้เขียนจะหยิบยกประเด็นหลักมาเล่าสู่กันฟัง
Time Management = Pain Management
แรงจูงใจของการกระทำและไม่กระทำบางสิ่ง เบื้องลึกแล้วมนุษย์เรามีแรงขับเคลื่อนอยู่ 2 ประเภท
1.แสวงหาความสุข
2.หลุดพ้นจากความทุกข์
แต่หากเรามองให้ลึกลงไป การปรารถนาความสุข มันก็มาจากเหตุที่คนเราไม่อยากทนกับความทรมานกายทรมานใจไม่ใช่หรือ?
Even when we think we’re seeking pleasure, we’re actually driven by the desire to free ourselves from the pain of wanting
และที่จริงแล้ว Distraction หรืออาการวอกแวกที่เกิดขึ้นก็เป็นอาการทางสมองที่สั่งให้เราหลบหนีความทุกข์นั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราเสพติดการกระทำรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เราจึงควรหันมาถามตัวเองว่า อะไรคือความทุกข์หรือความกลัวของเรา เพื่อจะได้รู้ตัวและหาทางจัดการกับสิ่งนั้นได้อย่างชาญฉลาด
Illustration by Jordon Cheung (Dribble)
"จัดการ" กับตัวกระตุ้นภายในไม่ใช่ "กำจัด"
หลังจากข้อแรกเมื่อเราหาความไม่สบายใจของเราเจอแล้ว ทีนี้อะไรกันที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกนั้น วิธีที่ Nir Eyal แนะนำคือการสังเกตตนเองและจดบันทึก มองหาตัวกระตุ้นภายใน(Internal trigger)ให้เจอ ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนเป็นคนติดของหวานมาก มาสังเกตตัวเองได้ว่าแทบทุกครั้งที่ต้องใช้เวลาครุ่นคิดหรือกำลังเครียดกับบางอย่างจะเกิดอาการอยากของหวาน ถ้ามองความรู้สึกช่วงนั้นดี ๆ ผู้เขียนอาจไม่ได้อยาก แต่แค่ต้องการพื้นที่หลบหนีชั่วคราวให้ตัวเองได้มีความสุขเล็กๆ ต่างหาก
แต่น่าแปลกเวลาคนเราบอกตัวเองว่า อย่าสนใจสิ่งนี้ เรากลับยิ่งสนใจมันมากกว่าเดิม ดังนั้น เทคนิคที่หนังสือเล่มนี้แนะนำก็คือ เมื่อเจอตัวกระตุ้นที่แท้จริงแล้วให้เรายอมรับตัวเอง แล้วลองพิจารณาดูว่ามีทางเลือกอื่นไหม ที่ทำแล้วได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน อย่างกรณีของผู้เขียนคือ เลือกที่จะเปลี่ยนจากของหวานที่ทำลายสุขภาพ เป็นอย่างอื่นแทน เช่น เลือกซื้อ dark chocolate หรือหยุดพักจากการทำงานมาฟังเพลงก่อนชั่วครู่ เป็นต้น
Make Traction สร้างสมนิสัยที่ดีเพื่อพิชิตเป้าหมาย
ชีวิตที่ดีของคนเรามีอยู่ 3 มิติหลัก คือ
1.โลกส่วนตัวของคุณ
2.การงาน
3.ความสัมพันธ์
ความท้าทายของเรื่องนี้มีอยู่ว่าเราจะบริหาร 3 เรื่องนี้อย่างไรให้สมดุล ประเด็นคือ มันไม่มีรูปแบบที่ตายตัว และไม่จำเป็นที่ต้องบริหารมันได้อย่าง ๆ เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณให้คุณค่ากับมิติไหน เวลาใด มากกว่ากันต่างหาก ดังนั้น การตั้งใจมีเวลา (Make time)ให้กับเรื่องสำคัญของคุณเป็นสิ่งสำคัญ Timeboxing หรือการล็อกตารางเวลาจะช่วยให้เราจัดการชีวิตได้ดีขึ้น และเมื่อไหร่ที่เราสัญญาอะไรกับใคร ก็ควรทำให้ได้ตามที่พูด เพื่อเป็นการเคารพเวลาทั้งของตัวเองและผู้อื่น
และสุดท้ายคือ ให้ความสำคัญกับ Input มากกว่า Outcome เพราะเป้าหมายจะเป็นจริงได้ถ้าการกระทำระหว่างทางสอดคล้องกัน นั่นแปลว่าเราต้องจัดสรรเวลาให้กับสิ่งที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายให้ได้
Goal by Andra / Stutpak (Dribble)
ป้องกันสิ่งรบกวนภายนอก
เราอาจควบคุมเหตุการณ์ที่มากระทบไม่ได้ทั้งหมด แต่เราสามารถป้องกันและชะลอสิ่งรบกวนได้ ปัญหาที่พบบ่อยในที่ทำงานคือ มักจะมีคนมาดึงเวลาของคุณไป Nir Eyal เผยเคล็ดลับเล็ก ๆ ที่ให้ผลดีเกินคาด อย่างเช่น การปิด Notification ภายในเวลาที่มีการจัดประชุม เพื่อการประชุมที่มีประสิทธิภาพไม่ต้องเสียเวลารอคอยกันและกัน ตั้งเวลาเฉพาะสำหรับการทำบางสิ่ง เช่น ตอบอีเมล หรือเวลาให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน (Google Calendar is your best friend)
Stay Committed ยืนหยัดและทำอย่างต่อเนื่อง
เคล็ดลับเพิ่มเติมที่จะช่วยให้เรารักษานิสัยที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง อย่างแรกคือ ประกาศให้คนรอบตัวของคุณรู้ว่าคุณเป็นแบบนี้ กำลังทำสิ่งนี้อย่างจริงจังอยู่ พยายามกระตุ้นให้คนรอบตัวหันมาให้ความสำคัญ หรือลองทำตาม อย่างที่สองคือ ใช้ตัวช่วย ในที่นี้ Nir Eyal แนะนำว่า ถ้าเราลงทุนโดยเฉพาะลงเงินกับบางอย่างไปแล้ว มักเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังและเห็นผล เช่น ลงทุนซื้อคอร์สเรียนเพื่อพัฒนาตัวเอง เสียเงินค่าฟิตเนสเพื่อผลักดันตัวเองให้ออกกำลังกาย เป็นต้น
สุดท้ายแล้วผู้เขียนอยากจะทิ้งท้ายด้วยประโยคนี้
"If you don’t run your own life, somebody else will."
แหล่งอ้างอิง หนังสือ Indistractable: How to Control Your Attention and Choose Your Life