App monetization: รายได้จาก Application มาจากไหน?
ทำไมถึงควรลงทุนในการทำแอปพลิเคชัน? เพื่อสร้าง Awareness เพิ่มฐานลูกค้า หรือแม้แต่เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร คำตอบของแต่ละคนอาจจะตอบได้หลากหลาย แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การสร้างรายได้และผลกำไรก็ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเราควรลงทุนหรือไม่ นอกเหนือจากแอปพลิเคชันที่ต้องจ่ายเงินเพื่อดาวน์โหลด หลายท่านอาจจะสงสัยว่าแอปฯ ฟรีที่โหลดใช้กันในทุก ๆ วันนั้นสร้างรายได้อย่างไร ในบทความนี้เราจะกล่าวถึง Revenue Model ของการทำแอปพลิเคชันที่ได้ผลกำไร ว่ามีอะไรบ้าง
In-App Advertising
แอปพลิเคชันรูปแบบนี้จะปล่อยให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดฟรี แต่จะใช้การขายพื้นที่สื่อโฆษณาให้กับบริษัทที่ต้องการเข้าถึงผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ แค่เพียงผู้ใช้กดดูโฆษณา ซึ่งโมเดลนี้เป็นโมเดลที่ง่ายที่สุดจึงมีการแข่งขันที่สูงระหว่างแอปด้วยกัน ทำให้ยากในการดึงดูดผู้ที่จะมาลงโฆษณา ดังนั้น เงินที่ได้ในแต่ละคลิกอาจจะไม่สูงมากนัก อย่าง Facebook เป็นต้น
(Image: Medium)
Freemium
หนึ่งในโมเดลธุรกิจที่ใช้กันแพร่หลาย ซึ่งคำว่า Freemium มาจากคำว่า Free รวมกับคำว่า Premium ซึ่งความหมายของมันก็ตรงตัว คือลูกค้าสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และใช้ได้ฟรีในเวอร์ชันปกติ แต่ถ้าลูกค้าท่านไหนอยากได้ความพรีเมียมเพิ่มขึ้นอีกระดับ ไม่ว่าจะเป็นด้านคอนเทนต์ อัปเกรดฟีเจอร์ใหม่ ๆ หรือแม้แต่การตัดโฆษณาออก ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับการบริการนั้น ๆ ซึ่งโมเดลนี้มีข้อดีตรงที่ สามารถเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทดลองก่อนได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เข้าถึงผู้ใช้ได้ง่ายกว่าแอปที่ต้องเสียเงินดาวน์โหลด เช่น Youtube Premium
(Image: Youtube)
Premium Apps (Paid Apps)
ชื่อของโมเดลนี้บ่งบอกได้เลย ว่าเป็นแอปที่ต้องจ่ายเงินเพื่อดาวน์โหลด เป็นการสร้างรายได้จากยอดการดาวน์โหลด ยิ่งมีผู้ใช้มากยิ่งมีรายได้มาก ดังนั้นแอปประเภทนี้จะต้องมีจุดขายที่แข็งแกร่งที่สามารถดึงดูดให้ผู้ใช้บริการเลือกที่จะดาวน์โหลดแบบเสียเงินมากกว่าใช้แอปฯ ฟรี ซึ่งแอปประเภทนี้ส่วนมากที่พบจะเป็นประเภทเกมส์ หรือ Tools ต่าง ๆ ที่มีความโดดเด่นเฉพาะ
(Image: androidauthority.com)
In-App Purchases
เป็นกลยุทธิ์ที่สร้างการขายให้เกิดขึ้นภายในแอปพลิเคชันโดยการขายสินค้าหรือบริการเพิ่มเติม เช่น การแลกสกุลเงินในเกมส์ การเติมเกมส์ การอัปเกรดฟีเจอร์บางอย่าง หรือแม้แต่การขายของผ่านแอป E-Commerce นอกจากนั้น ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับนักการตลาดในการทำโฆษณาและโปรโมชันต่าง ๆ ได้อีกด้วย
(Image: Google Play)
Subscription
โมเดลที่อิงจากระบบการสมัครสมาชิก โดยผู้ใช้จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปีเพื่อใช้บริการ หรือเข้าถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจสตรีมมิ่ง เช่น Netflix หรือ Adobe ที่ผู้ใช้งานจะต้องจ่ายค่า Subscription รายเดือนก่อนถึงจะสามารถใช้บริการได้
(Image: 9to5google.com)
Sponsorship
เป็นโมเดลที่ค่อนข้างใหม่ โดยอาศัยการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทที่ต้องการทำโฆษณา ซึ่งจะลงทุนโดยการให้ Incentive อาจจะเป็นเงินค่าตอบแทน รางวัล หรือคูปอง กับผู้ใช้หรือทำตามเงื่อนไขบางอย่างภายในแอปฯ ดังนั้น เจ้าของแอปสามารถสร้างรายได้จากส่วนแบ่งของคนที่แลกของรางวัล
(Image: thereporter.asia)
(Image: Dtac)
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพมากขึ้นว่า Applicationในปัจจุบันนี้ สามารถสร้างรายได้จากจากกลยุทธิ์ไหนบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกโมเดลให้เหมาะกับธุรกิจของคุณที่สุด