5 วิธี แก้อาการ “คิดงานไม่ออก”
คำว่า Creative หรือสร้างสรรค์นั้น สามารถเกี่ยวโยงได้หลายอย่างหลายแขนงไม่ใช่แค่สายงานออกแบบ การทำอาหารจากของที่มีก็ถือเป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง การแต่งนิทานให้ลูก ๆ หลาน ๆ ฟังก่อนนอนก็สร้างสรรค์ การหาวิธีลดต้นทุนธุรกิจ หรือแม้แต่การคิดหาทางออกสำหรับเรื่องต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสร้างสรรค์ได้
บางคนมองว่า การเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องของพรสวรรค์ แต่ความเป็นจริงแล้ว ความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเรื่องของทักษะ ที่ใคร ๆ (ช่างไม้ แม่บ้าน นักธนาคาร นักเล่นหุ้น ซีอีโอ พ่อค้า นักธุรกิจ ฯลฯ) ก็สามารถฝึกฝนได้ แต่จะฝึกอย่างไร วันนี้เราคัดวิธีดี ๆ มาฝาก
1. วาด ๆ เขียน ๆ อะไรก็ได้ในตอนเช้า
จากหนังสือ The Power Of When (Dr. Michael Breus) บอกว่า เวลาที่สมองพร้อมสำหรับการตัดสินใจที่ดีและเฉียบคมมากที่สุด จะเกิดขึ้นได้หลังจากสมองได้สลัดความง่วงออกไปอย่างหมดจดแล้ว นั่นก็คือหลังตื่นนอนสักพัก ถึงเเม้เราจะไมไ่ด้ตัดสินใจอะไรซะทีเดียว แต่มันเป็นเวลาที่ดีสำหรับการคิด ๆ เขียน ๆ ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำงานเลย
และจากงานวิจัย พบว่าคนกว่า 75% มีพลังมากที่สุดตั้งแต่ 9 - 11 โมงเช้า ดังนั้น ช่วงเช้าจึงเหมาะกับงานที่ต้องคิด วิเคราะห์ หรือที่ต้องโฟกัสมาก ๆ
ลองให้เวลาตัวเองสัก 10 นาทีก่อนทำงาน วางมือถือไว้ห่าง ๆ หากระดาษ ปากกามาแล้วลงมือจดบันทึก สิ่งที่จดลงไปไม่ใช่การเขียนบล็อก แต่เป็นการรวบรวมความคิด ไอเดียของตัวคุณเองลงไป โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลก็ได้ แค่เป็นสิ่งที่คุณคิด หรือติดขัดอยู่ในหัว ลองปล่อยมันออกมาผ่านรูป ตัวอักษร หรือลายเส้นบนกระดาษ
Photo: Annie Spratt, Unsplash
การเขียนแบบ Free-Form Style นี้จะช่วยปลุกความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว และเป็นการเรียบเรียงความคิดเป็นลายลักษณ์อักษร มากกว่าความคิดที่ลอยมาลอยไปในหัว
ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไร เรามีตัวอย่างประโยคที่พอจะช่วยได้
• Recently, I’m struggling with ...
• If I had more time in the day, I’d use it to ...
• Today, I’ll relieve stress by ...
• I feel out of my comfort zone when ...
• My work is motivated by ...
• This week, I’m thankful for ...
• Today, I should avoid ...
• I feel fulfilled at work when ...
• I work best when ...
2. ออกกำลังกาย
งานวิจัยเผยว่า กายบริหาร หรือการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง โยคะ โดยเฉพาะแอโรบิก ครั้งละ 30 นาที จะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และสร้างออกซิเจนให้สมอง ทั้งยังมีส่วนช่วยให้สมองซีกซ้ายฝึก Cognitive Thinking ผลิตไอเดียใหม่ ๆ และจินตนาการได้ดีขึ้นด้วย
การนั่งทำงานนาน ๆ นั้นเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ซึ่งถ้านั่งท่าเดิมเกิน 30 นาที จะมีผลต่อการไหลเวียนของโลหิตไม่สมดุล นำไปสู่อาการสมองตื้อ คิดอะไรไม่ค่อยออก ไม่สดชื่น ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ดังที่หลายคนเป็นบ่อย ๆ
ถ้าคุณคิดว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย ลอง Deskercise ซึ่งก็คือการออกกำลังกาย ยืดเส้นสายที่โต๊ะทำงานของคุณเอง สามารถเข้าไปดูท่าการออกได้ที่ The Ultimate Deskercise Routine: Stretches for the Office
1 ในท่าออกกำลังกายแบบ Deskercise (Source: healthline.com)
3. เอาตัวเองไปอยู่ในที่ต่าง ๆ (นอกออฟฟิศ)
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คุณมักได้ไอเดีย หรือความคิดดี ๆ หลายอย่างตอนอยู่ข้างนอก มากกว่าในที่ทำงาน เพราะอะไร?
แค่ออกไปเดินเล่น โดยเฉพาะนอกอาคาร ก็สามารถเพิ่มระดับความคิดสร้างสรรค์ และกระตุ้นการคิดอะไรใหม่ ๆ ได้ถึง 60% เพราะจะช่วยปลดล็อกเครือข่ายการทำงานของสมอง ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดความคิดสร้างสรรค์
-
- สิ่งเร้าใหม่ ๆ (เสียง กลิ่น ภาพ สัมผัส) จะกระตุ้น Salience Network หรือเครือข่ายเด่น ซึ่งทำหน้าที่ช่วยคัดกรองไอเดีย ข้อมูล ก่อนจะส่งไปยังสมองส่วนเครือข่ายบริหาร
- เวลาอยู่ข้างนอก คุณต้องโฟกัสที่เส้นทางบ้าง อ่านป้ายบ้าง สายตาสอดส่อง จะทำให้สมองส่วนเครือข่ายบริหาร (Executive Network) ซึ่งเป็นส่วนควบคุมการตัดสินใจจะทำงาน
- เวลาคุณนึก คิด เพ้อฝัน จินตนาการอะไร สมองเครือข่ายปกติ (Default Network) ก็จะทำงาน ช่วยผลิตไอเดีย
Image: Pat Whelen, Unsplash
เคล็ดไม่ลับ: ไม่ว่าคุณจะอยู่ในออฟฟิศ หรือเดินเล่นอยู่ข้างนอก สามารถเปิดเพลงแนว Happy Music จะช่วยให้คิดอะไรได้ดีขึ้น และถ้าอยากโฟกัสแนะนำให้ใส่หูฟัง จะทำให้ตัดเสียงรบกวนรอบข้างออกได้บางส่วน (แต่ต้องระวังเรื่องความปลอดภัย กรณีอยู่ในที่สัญจรอาจทำให้ไม่ได้ยิน และเกิดอันตรายได้)
คุณอาจเคยได้ยินว่า บริษัทบางแห่ง สนับสนุนให้พนักงาน ออกไปเดินทาง ท่องเที่ยว เพราะการทำแบบนั้น จะทำให้ประสาทสัมผัสของเราได้ลิ้มรสอะไรใหม่ ๆ หรือจากความเคยชิน โดยเฉพาะสถานที่ที่ไม่เคยไป วัฒนธรรมใหม่ที่แตกต่าง และถ้าเราเปิดใจรับเอาประสบการณ์เหล่านั้นเข้ามาโดยไม่ยึดติดกับสิ่งที่เราเป็น เหมือนสุภาษิต “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ก็จะยิ่งทำให้เราได้ไอเดียใหม่ ๆ จากแนวความคิดที่ต่างจากเดิมอีกเยอะมากทีเดียว เพราะเราเข้าใจวิธีคิด ของคนในพื้นที่หรือวัฒนธรรมนั้น ๆ
4. ไม่ยึดติดกับไอเดียหรือความสำเร็จเดิม
คุณอาจจะสร้างสรรค์ผลงานชิ้นโบว์แดงมาหลายต่อหลายชิ้น หรือมีสิ่งที่คุณภูมิใจในอดีต แต่คุณไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จเหล่านั้นมากเกินไปจนเดินหน้า หรือออกไปเจอสิ่งใหม่ ๆ ไม่ได้ จริงอยู่ที่บางครั้งกิจวัตรการทำงานอาจมีส่วนที่ต้องทำซ้ำ ๆ แต่ถ้าความซ้ำซากนั้นทำให้คุณติดแหง็กไม่พัฒนาไปไหน ก็ควรเปลี่ยนลักษณะการทำงานใหม่ เช่น
-
- ดีไซเนอร์ สร้างเทมเพลตสำหรับโพสต์ลงสื่อออนไลน์ ควรต้องหมั่นปรับเปลี่ยนเทมเพลตเรื่อย ๆ เพื่อหาไอเดียใหม่ใส่ลงไปในงาน ให้งานดูใหม่ และฝึกทักษะอยู่เสมอ
- แม่ค้าขายขนม ที่มีสูตรเดียว และมีท่าทีว่าคนเริ่มจะไม่นิยม ก็อาจต้องมองหาสูตรใหม่ หรือปรับสูตรให้ดีขึ้นตามยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น
5.มองหาสิ่งใหม่
การมองหาไอเดียใหม่ ในที่เดิม ๆ สักวันไอเดียนั้นอาจจะหมด ลองเปลี่ยนทำอะไรที่ไม่เคยทำดูบ้าง แล้วเราจะได้ไอเดียที่ใหม่และแตกต่างออกไปจากเดิมแน่นอน
-
- ลองเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง คุณอาจจะพบเจออะไร ที่จุดประกายความคิดได้
- เปลี่ยนเมนู ร้านอาหาร ที่เคยกิน คาเฟ่ที่เคยนั่ง
- เข้าร่วมอีเวนต์ใหม่ ๆ คุณอาจพบเจอคนเจ๋ง ๆ เก่ง ๆ ที่พร้อมแนะนำ ออกความเห็นเต็มไปหมด
- ถ้าคุณเป็นนักออกแบบ ลองแต่งเพลง หรือกลอน ถ้าคุณเป็นนักดนตรี ลองวาดรูป หรือเต้นดูบ้าง คุณสามารถลองสิ่งที่ตรงข้ามหรือใกล้เคียงกับความสามารถของคุณ ซึ่งแบบไหนก็ดีทั้งนั้น
อ้างอิง
• Bao. คิดงานแทบตายสุดท้ายหัวโล่ง รู้จัก Creativity Killer ที่ทำให้เราไร้ความคิดสร้างสรรค์. October 30, 2020.
• Burrill, Anthony. How to find the inspiration to become a more creative person. July 18, 2018.
• Fabrega, Marelisa. 25 Ways to Be More Creative. (Cited March 29, 2020).
• Gray, Margaret. How to find the inspiration to become a more creative person. July 18, 2018.
• Koontz, Alison. The Circuitry of Creativity: How Our Brains Innovate Thinking. March 12, 2019.