การทำ Job Rotation ในบริษัท Start-Up
หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ Job Rotation หรือ การหมุนเวียนสลับหน้าที่ในการทำงาน บทความนี้จะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการทำ Job Rotation ในบริษัท Start Up โดยเล่าจากมุมมองของบริษัท Senna Labs นั่นเอง หากใครสนใจอยากรู้เกี่ยวกับรูปแบบการทำ Job Rotation ของ Senna Labs ก็มาอ่านบทความนี้ไปพร้อมกันได้เลย
Job Rotation คืออะไร ?
Job Rotation หรือ การหมุนเวียนสลับหน้าที่ในการทำงาน อธิบายง่ายๆคือการให้คนที่ทำอยู่ตำแหน่ง A สลับไปทำตำแหน่ง B ซึ่งเป็นไปได้ทั้งตำแหน่งที่มีความใกล้เคียงกันอยู่แล้ว หรือเป็นตำแหน่งที่แตกต่างกันมากก็ได้เช่นกัน
เป้าหมายของการทำ Job Rotation คือ การเพิ่มความรู้และทักษะให้กับพนักงาน ลดความจำเจ เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองถนัดและทำได้ดีมากที่สุด ซึ่งการทำ Job Rotation ถือว่าเป็นวิธีที่ทำให้พนักงานได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาแสดงได้อย่างชัดเจน และรวดเร็ว พนักงานจะต้องมีการศึกษาหาความรู้ เตรียมตัวเตรียมพร้อมทักษะและความสามารถของตัวเอง ก่อนที่จะย้ายไปทำตำแหน่งใหม่ เพื่อที่พอไปทำจริงแล้ว จะไม่ทำให้ทีมเดิมที่ทำอยู่นั้นเกิดปัญหาตามมา
สิ่งที่ทำคัญที่สุดของการทำ Job Rotation คือต้องไม่เป็นการบังคับพนักงานไปทำ ควรให้พนักงานยินยอมในการย้ายตำแหน่ง เพราะมิเช่นนั้น จะทำให้พนักงานเกิดความเครียดในการทำงาน และทำให้งานที่ออกมาไม่มีประสิทธิภาพได้
การทำ Job Rotation บริษัท Start Up ทำกันอย่างไร ?
ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างการทำงานของ Senna Labs ให้ดู เนื่องจาก Senna Labs ยังถือว่าเป็นบริษัทไซส์ Start-up คือมีพนักงานประมาณ 40 กว่าคน ทำให้ทุกคนในบริษัทสามารถมองเห็นการทำงานของทีมอื่นได้ง่าย และทุกทีมมีการสื่อสารกันทั่วถึง ส่งผลให้ทุกคนเข้าใจขั้นตอนการทำงานโดยภาพรวมค่อนข้างชัด
สำหรับ Senna Labs เรามี Performance Review ทุก 6 เดือนเพื่อที่จะพูดคุยถึงการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยจะมีการพูดคุยถึงเรื่องของ Career Path ของพนักงาน ซึ่งจะมีพนักงานบางคนที่แจ้งให้ Team Lead รู้ว่าพนักงานสนใจอยากลองไปทำตำแหน่งอื่น เช่น Business Development สนใจที่จะลองไปเป็น Project Manager เพราะอยากรู้ว่าพอจบขั้นตอนของการปิดการขายไปแล้ว เรามีการทำงานให้ลูกค้าอย่างไร เพื่อที่ว่าในอนาคต จะสามารถเอาความรู้ ความเข้าใจ ทั้งของทีมและของลูกค้าที่มากขึ้น ไปพัฒนาในส่วนของการขายได้ ซึ่งก่อนที่ทางผู้บริหารจะตัดสินใจให้พนักงานคนนั้นสามารถทำ Job Rotation ได้ จะต้องประเมินแล้วว่า พนักงานคนนั้น มีความรู้ความสามารถมากเพียงพอที่จะผันตัวไปลองทำตำแหน่งอื่นได้ เพื่อที่จะทำให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย
หลังจากพนักงานได้หมุนเวียนสลับหน้าที่ไปทำตำแหน่งอื่นแล้ว จะต้องปฏิบัติให้ได้ตาม Standard ของทีมนั้นๆ และ Team Lead จะต้องคอยสังเกตการทำงาน หมั่นให้คำแนะนำ และ Feedback การทำงานอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการทำงานตกหล่นหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต หากทำไปทำมาแล้วพบว่า พนักงานสามารถทำตำแหน่งใหม่ได้ดีเช่นกัน ก็จะมีการพูดคุยว่าชอบทำงานตำแหน่งไหนมากกว่ากัน ทางบริษัทก็จะปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและความต้องการของพนักงาน
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการทำ Job Rotation
ในการทำ Job Rotation มีสิ่งที่ต้องระวัง เช่น
- ความรู้สามารถของพนักงาน หากเราให้คนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมากเพียงพอไปทำตำแหน่งใหม่ อาจส่งให้งานที่ออกมาไม่มีประสิทธิภาพและเกิดปัญหาในทีมตามมาได้
- ขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่าน บริษัทต้องมีการเตรียมแผนให้สำหรับการย้ายทีม เพื่อที่ทั้งพนักงานเก่าในทีมจะยอมรับพนักงานที่จะเข้าไปทำใหม่ด้วย หากไม่มีแผนงานที่ชัดเจน จะทำให้พนักงานเกิดความสับสนและความเครียด และส่งผลให้งานออกมาไม่ดี รวมถึงทีมก็จะไม่มีความสุข
- ความสมัครใจของพนักงาน บริษัทต้องไม่บังคับพนักงานไปทำโดยไม่ได้รับความยินยอม เพราะพนักงานจะมองว่าบริษัทต้องการให้พนักงานกดดัน และลาออกไปในที่สุด
สรุปแล้ว การทำ Job Rotation หรือ การหมุนเวียนสลับหน้าที่ในการทำงาน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากบริษัทไหนที่ต้องนำวิธีนี้ไปใช้ จะต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับพนักงานให้ดี มิเช่นนั้น อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีได้
แหล่งอ้างอิง