ปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติด SEO: ปัดฝุ่นโครงสร้าง
รู้หรือไม่ว่า การอัปเดตเนื้อหาเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ และมีคุณภาพ จะช่วยเพิ่มโอกาสทำอันดับ SEO (Search Engine Optimization) ได้ดีกว่าเว็บไซต์ที่ไม่ได้ปรับปรุงเลย ถ้าคุณจำครั้งล่าสุดที่อัปเดตเนื้อหาในเว็บไซต์องค์กร หรือของคุณเองไม่ได้ บทความนี้อาจเป็นเวลาเหมาะที่จะเริ่มทำการการอัปเดตอีกครั้ง ซึ่งบทความนี้เราจะอิงเครื่องมือการค้นหาหลักอย่าง Google เพื่อความเข้าใจง่ายและเห็นภาพชัดเจนขึ้น
Quick Recap: SEO คืออะไร
สำหรับมือใหม่ หรือคนที่ไม่คุ้นชินกับ SEO เราขอมาอธิบายสั้น ๆ ให้ฟัง แต่ถ้าใครรู้อยู่เเล้ว ข้ามไปย่อหน้าถัดไปได้เลย SEO หรือ Search Engine Optimization แปลตรงตัวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือการค้นหา โดยการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือการค้นหา ซึ่งตัว search engine ที่ทุกคนรู้จักก็คือ Google Search ทำยังไงให้เนื้อหา หรือเว็บไซต์ของเราไปติดอยู่ในอันดับการค้นหาต้น ๆ ซึ่งจากการสำรวจบอกว่า คนอยู่หน้าผลการค้นหาหน้าแรกมากกว่า 71 เปอร์เซนต์ และผลการค้นหาอันดับแรก ถูกคลิกมากถึง 28.5 เปอร์เซนต์ และลดหลั่นลงไปตามลำดับ
ผลการค้นหาอันดับแรก ถูกคลิกมากถึง 28.5 เปอร์เซนต์ (ที่มา: searchenginejournal)
ปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือการค้นหา (SEO)
เจ้าของเว็บไซ์ ควรคำนึงเสมอว่า เว็บไซต์ต้องมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ และมอบประสบการณ์ที่ดีต่อผู้เข้าใช้ ซึ่งเครื่องมือการค้นหา (Search Engine) อย่าง Google ก็เปรียบเป็นผู้ใช้รายหนึ่งเหมือนกัน แต่มีหน้าที่พิเศษกว่าคนอื่นคือ ค้นพบ ตรวจสอบ และทำความเข้าใจเนื้อหา ไปในตัว เมื่อกูเกิลเข้าใจ ก็จะช่วยบอกต่อ ด้วยการจัดอันดับให้ถูกมองเห็นได้ดีขึ้น
ตรวจสอบว่าคุณอยู่ในดัชนีของ Google หรือไม่
ด่านแรกของการเริ่มต้น คือตรวจสอบว่าเว็บไซต์ของคุณอยู่ในดัชนีของกูเกิล (Google's Index) หรือไม่ ซึ่งวิธีการก็ง่ายมาก แค่พิมพ์ site: แล้วตามด้วย URL หน้าแรก (Homepage) ของเว็บไซต์ ถ้าเห็นผลการค้นหาก็แสดงว่าอยู่ในดัชนีแล้ว เช่น site:sennalabs.com ก็จะได้ผลลัพธ์แบบนี้
เว็บไซต์ Senna Labs ถูกบันทึกอยู่ในดัชนีกูเกิล 1,020 รายการ
แต่ถ้าลองค้นหาแล้วไม่ขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เพราะกูเกิลเองก็ไม่ได้รอบรู้ครอบคลุมขนาดนั้น เช่น เว็บคุณเพิ่งเปิดตัวและ Google ยังไม่ได้รวบรวมข้อมูล การออกแบบเว็บไซต์ที่ซับซ้อน ไม่เอื้อต่อการถูกค้นหาโดยง่าย เป็นต้น แต่ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะกูเกิลอัปเดตดัชนีเรื่อย ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่อยากรอ ต้องการส่งเนื้อหาด้วยตัวเอง (ซึ่งเราจะยังไม่แนะนำมือใหม่ เพราะค่อนข้างซับซ้อน ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ) ลองเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ในหลักเกณฑ์สำหรับผู้ดูแลเว็บของกูเกิล
วางแผนผังเว็บไซต์ (Site Map)ให้ชัดเจน
แผนผังเว็บไซต์ (Site Map) เปรียบเหมือนโครงสร้างของบ้าน ยิ่งชัดเจน ยิ่งดี หากเว็บไซต์ของคุณมีการทำแผนผังอยู่แล้ว ให้ตรวจสอบอีกครั้ง เช่น
- มีความซับซ้อน หรือผู้ใช้งานเข้าถึงหน้าที่ต้องการได้ง่ายหรือไม่
- มีการแบ่งลำดับความสำคัญจากภาพใหญ่ แล้วไล่ระดับลงไปเล็กหรือไม่
- จัดหมวดหมู่ของหน้าถูกต้องและเนื้อหาอยู่ในประเภทเดียวกันไหม
URL ที่เรียบง่ายช่วยให้ผู้ใช้รู้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
แม้ URL หรือที่อยู่เว็บ ไม่ใช่สิ่งแรก ๆ ที่ผู้ใช้มองหา หรือให้ความสำคัญ แต่มีความจำเป็น ในแง่ของ SEO และความง่ายต่อการเข้าใจลิงก์หน้านั้น ๆ เช่น
url : https://sennalabs.com/en/blogs
ทำให้เรารู้ว่าเป็นหน้าเกี่ยวกับบล็อก หรือ
https://sennalabs.com/en/services/e-commerce
ที่พูดถึงบริการเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น และสิ่งที่ไม่ควรทำเลยก็คือ การตั้ง url ยาว มาก ๆ หรือไม่ชัดเจน เช่น
www.example.com/my/universeisone/dhigelt
เพราะนอกจากอาจสร้างความสับสนและใช้งานยากแล้ว ยังไม่มีความหมาย หรือเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานอีกด้วย
แสดงหน้า Error (404) ที่มีประโยชน์แก่ผู้ใช้งาน
ไม่มีใครค้นหาข้อมูล หรือสินค้าแล้วเจอหน้า error หรือ 404 แต่ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีโอกาสเจอ แค่คลิกลิงก์เสีย พิมพ์ผิดก็เจอได้เเล้ว แต่จะทำอย่างไรถึงจะทำให้ประสบการณ์ผู้ใช้งานยังคงดี และให้ไปต่อได้? วิธีง่าย ๆ คือ กำหนดหน้า 404 เอง โดยใส่ลิงก์ที่ช่วยนำผู้ใช้กลับไปยังหน้าที่ใช้งานได้ปกติในเว็บไซต์ เช่น ใส่ลิงก์ที่ชี้กลับไปยังหน้าแรก รวมทั้งลิงก์ที่ชี้ไปยังหน้าอื่น ๆ ที่ผู้ใช้อาจจะมองหา หรืออยากให้ผู้ใช้เห็น ด้วยก็ได้
แต่สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ
- แสดงเฉพาะข้อความที่คลุมเครือ เช่น "ไม่พบ" "404" หรือไม่มีหน้า 404 เลย อย่างน้อยควรพากลับไปหน้าแรกได้
- ออกแบบหน้า 404 ไม่สอดคล้อง หรือไม่เข้าพวกกับหน้าอื่นๆ ในเว็บไซต์
นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น และแค่ส่วนหนึ่งของการปรับ อัปเดตเนื้อหา โครงสร้างให้เป็นมิตรกับ SEO เท่านั้น บทความหน้าเราจะมาพูดถึงเนื้อหาในเว็บไซต์ว่า แบบไหนควรเขียน แบบไหนควรเลี่ยง แค่ไหนคือพอดี และคอนเทนต์ที่ดี สะท้อนความน่าเชื่อถือได้อย่างไร อย่าลืมติดตามนะครับ