เทคนิคการเขียน Flowchart
Flowchart เป็นแผนภาพที่มีไว้เพื่ออธิบายการทำงานของโปรแกรม ระบบ หรือขั้นตอนในการทำงานต่าง ๆ ลองคิดดูว่าหากเราได้มีโอกาสคุยงานกับทางลูกค้า นักลงทุน หรือแม้กระทั่งทีมงานของเราเอง แล้วต้องการอธิบายการทำงานของแอปพลิเคชันตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดให้เขาฟัง สิ่งที่สำคัญที่สุดการทำงานครั้งนี้คือ “ต้องให้ทุกคนเห็นภาพตรงกัน” ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสร้าง Flowchart ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพตรงกัน ในบทความนี้จะแนะนำให้ทุกคนเข้าใจถึงสัญลักษณ์สากลที่ใช้ในการเขียน Flowchart และวิธีเขียน Flowchart เบื้องต้น
Flowchart คืออะไร
Flowchart คือแผนภาพที่มีการใช้สัญลักษณ์รูปภาพและลูกศรที่แสดงถึงขั้นตอน การทำงานของระบบงานทีละขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบกระบวนการ ซึ่งทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ มีกระบวนการ (Process) ซึ่งสามารถที่ใช้ Flowchart อธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้เข้าใจถึงขั้นตอน วิธีการ รวมไปถึงสามารถเป็นเครื่องมือช่วยในการหาข้อบกพร่องของกระบวนงานได้โดยง่าย โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์มีความซับซ้อนหลายขั้นตอน และกระบวนการ Flowchart จะเป็นตัวช่วยอธิบายระบบงานทั้งหมดให้เข้าใจได้โดยง่าย
สัญลักษณ์ของการเขียน Flowchart
การเขียน Flowchart นั้นได้มีการกำหนดสัญลักษณ์ที่ใช้งานให้เป็นสากล และเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการกำหนดมาตรฐานนี้ได้ถูกกำหนดตามแบบของ ANSI (American National Standards Institute) และ ISO (International Standard Organization) เพื่อสื่อความหมาย และให้เกิดความเข้าใจในสัญลักษณ์ที่ใช้ในการเขียนผังงาน Flowchart ทั่วโลก โดยวันนี้เราจะพาไปรู้จักเกี่ยวกับสัญลักษณ์เบื้องต้นในการเขียน Flowchart
-
Terminator
การกำหนดจุดเริ่มต้นของการทำงานและแสดงจุดสิ้นสุดของการทำงาน
-
Process
รายละเอียดของการทำงานและกระบวนการทำงาน
-
Decision
การเปรียบเทียบเงื่อนไขต่าง ๆ ใช้ในขั้นตอนที่มีการตัดสินใจว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่
-
Data
การรับค่าข้อมูลหรือการส่งข้อมูล
-
Flow Line
แสดงทิศทางความสัมพันธ์ของการทำงานในระบบงานตามลำดับงาน
โครงสร้างของ Flowchart
-
Sequence: การทำงานแบบตามลำดับ คือการเขียนให้เป็นลำดับขั้นตอนการทำงานแบบไม่มีการตัดสินใจ
ตัวอย่าง Sequence Flowchart: การคำนวณ VAT 7%
-
Selection: การเลือกกระทำตามเงื่อนไข คือการตัดสินใจหรือเลือกเงื่อนไข คือโดยปกติจะมีเหตุการณ์ให้ทำ 2 กระบวนการ คือเงื่อนไขเป็นจริงจะกระทำกระบวนการหนึ่ง และเป็นเท็จจะกระทำอีกกระบวนการหนึ่ง
ตัวอย่าง Selection Flowchart : การคิดส่วนลด 50 บาท กรณีสินค้าราคามากกว่า 500 บาท
-
Iteration: การทำซ้ำ คือกระบวนการกลับมาทำงานในขั้นตอนเดิม จะเห็นว่า Flowchart มีลักษณะวน ซึ่งเรียกว่า Loop
ตัวอย่าง Iteration Flowchart : การจองห้องพักในโรงแรม
ขั้นตอนการเขียน Flowchart
1. อธิบายขั้นตอน
กำหนดฟังก์ชันและขอบเขตการทำงานของระบบ หรือกระบวนการที่ต้องการแสดงให้เห็นใน Flowchart ควรระบุ Input, Output และ Process
2. เลือกรูปทรงและสัญลักษณ์
เพื่อให้เห็นส่วนประกอบต่าง ๆ ของกระบวนการ เช่น จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด, Input Output Process และ Discition ให้เลือกสัญลักษณ์ตามการทำงานของแต่ละขั้นตอน
3. จัดระเบียบการไหลของแผนภาพ
กำหนดลำดับของขั้นตอนในกระบวนการและเส้นทางต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ สิ่งนี้จะช่วยให้ Flowchart เป็นระเบียบและเข้าใจง่ายขึ้น
4. ทบทวนและแก้ไข
ตรวจสอบว่า Flowchart ได้แสดงให้เห็นแต่ละขั้นตอนอย่างถูกต้องและทำความเข้าใจได้ง่าย
การเขียน Flowchart ที่ดี
-
ควรมีการเขียนขั้นตอนการทำงานก่อนการเขียน Flowchart
-
ใช้สัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ตามหลักสากล
-
ใช้ลูกศรแสดงทิศทางการไหลของข้อมูลจากบนลงล่างหรือจากซ้ายไปขวา การจัดรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้ใช้ Flowchart ของคุณเข้าใจกระบวนการได้ง่ายขึ้น
-
คำอธิบายในขั้นตอนควรสั้น กะทัดรัด และเข้าใจง่าย
-
ทุกขั้นตอนต้องมีลูกศรแสดงทิศทางแสดงเข้า-ออก
-
Flowchart ควรมีการทดสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้งาน
References:
https://visme.co/blog/how-to-make-a-flowchart/
https://www.visual-paradigm.com/tutorials/flowchart-tutorial/
https://creately.com/guides/flowchart-guide-flowchart-tutorial/