สร้างกลยุทธ์การตลาดจาก FOMO เทคนิคที่ทำให้ Clubhouse ดังปังปุริเย่!
เชื่อว่านาทีนี้ไม่ว่าใครก็รู้จัก ‘Clubhouse’ แอปพลิเคชันที่สร้างห้องสนทนาโดยเปิดโอกาสให้ผู้พูดและผู้ฟังเข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือสร้างความบันเทิง ภายใต้หัวข้อสนทนานั้นๆ ปัจจุบัน Clubhouse มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสูงกว่า 6 ล้านครั้ง และติดชาร์ต Social Media Application อันดับ 1 ของ App Store (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2021) และแนวคิดทางจิตวิทยาเบื้องหลังปรากฏการณ์ความฮอตของแอปฯ Clubhouse ก็คือ Fear Of Missing Out หรือ ‘FOMO’ โดยเล่นกับความรู้สึกกลัวของผู้ใช้ ตั้งแต่กลัวที่จะตกเทรนด์หากไม่ได้รับเชิญเข้า Clubhouse จนต้องรีบหา referal เพื่อเข้าใช้งาน รวมไปถึงกลัวพลาดห้องสนทนาที่ตัวเองสนใจ จึงต้องติดตาม Speaker ที่ตัวเองชอบและออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ
(Image: Unsplash)
ไม่ใช่แค่ Clubhouse จะเอา FOMO มาใช้ ยังมีอีกหลาย ๆ แบรนด์ที่นำแนวคิดทางจิตวิทยานี้มาประยุกต์กับกลยุทธ์การขายสินค้าของตนเอง โดยกระตุ้นความต้องการที่จะซื้อสินค้า และความรู้สึกเสียดายหากต้องพลาดโอกาสนั้น นักการตลาดสามารถสร้างกลยุทธ์การตลาดโดยยึดแนวคิด FOMO ได้ดังนี้
ใช้คำเพื่อเร่งการตัดสินใจ
การใช้คำนับเป็นสิ่งสำคัญในการทำ FOMO Marketing เพราะจะช่วยเร่งการตัดสินใจในการซื้อ หรือการกระทำใด ๆ ของลูกค้าไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยเฉพาะการกำหนดระยะเวลา ซึ่งจะทำให้ ตัวลูกค้าจะรับรู้อยู่ตลอดว่า ยิ่งตัดสินใจนานมากขึ้น เวลาก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ การใช้คำเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจไม่ใช่แค่เพียงการจำกัดช่วงเวลาในการซื้อ แต่สามารถเล่นกับจำนวนสินค้า หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้
ตัวอย่างการใช้คำ
• Last chance
• เหลือสินค้าเพียง 2 ชิ้น
• ชิ้นสุดท้าย
• มีจำนวนจำกัด
• ห้ามพลาด
• Last for 24 hours
• วันนี้เท่านั้น
(Image: Shopee)
นำเสนอสิทธิพิเศษในระยะเวลาจำกัด
ดีลพิเศษพร้อมระยะเวลาที่จำกัด สามารถเร่งการตัดสินใจในการซื้อได้มากกว่าการใช้คำเพียงอย่างเดียว เพราะจะสร้างความรู้สึกเสียดายมากกว่า ถ้าหากมาซื้อทีหลังก็จะพลาดโอกาสในการได้สิทธิพิเศษนั้นไปแล้ว
ตัวอย่างดีลพิเศษ
• Deal of the Day
• Flash Sale
• ลดเพิ่ม 15% เฉพาะวันนี้เท่านั้น
• ส่งฟรีวันนี้เท่านั้น
• ลดพิเศษ เฉพาะ 20 คนแรก
• ซื้อตอนนี้ แลกซื้อสินค้าพิเศษได้ในราคา XX บาท
• ซื้อวันนี้ แถมฟรีทันที
(Image: Blogspot )
อย่างไรก็ตาม ดีลพิเศษในช่วงจำกัดระยะเวลาไม่ควรเสนอต่อหลังจากช่วงเวลานั้น เพราะจะไปลดทอนความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของแบรนด์ เนื่องจากเงื่อนไขของดีลไม่ได้เป็นไปตามที่นำเสนอ
ใช้ Social Proof
(Image: Pngegg)
พฤติกรรมที่ควรทำตามโดยจูงใจว่าแบรนด์มีความน่าเชื่อถือและมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก แบรนด์สามารถทำการตลาดโดยใช้ Social Proof ได้หลากหลายวิธี อาทิ
• แสดง Testimonials ในหน้าเว็บไซต์
• ให้ลูกค้ารีวิวและแชร์โพสต์
• นำคำพูดของคนดัง หรือ Influencer ที่มีต่อแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์มาแสดงในช่องทางประชาสัมพันธ์ของแบรนด์
• โปรโมตแบรนด์โดยนำเสนอข้อมูลทางวิชาการหรือตัวเลขทางสถิติที่น่าสนใจ
• แสดงให้เห็นคิวในการต่อแถวเพื่อซื้อสินค้า
ใช้ Competitive spirit ให้เป็นประโยชน์
นักการตลาดสามารถเพิ่มความเข้มข้นของ FOMO Marketing ได้ โดยดึง Competitive spirit หรือจิตวิญญาณแห่งการแข่งขันของผู้บริโภคมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากลูกค้ารู้ว่ามีคนอื่น ๆ อีกมากอยากได้สินค้าชิ้นนี้ ยิ่งทำให้มีแรงผลักดันในการต้องการครอบครองสินค้าชิ้นนี้มากยิ่งขึ้น มากกว่านั้น ลูกค้าจะมีความรู้สึกพึงพอใจเมื่อได้ซื้อสินค้าชิ้นนั้นมา จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่นำ Competitive spirit มาประยุกต์ใช้อย่างเห็นได้ชัด คือ Online Travel Agency (OTA) อย่างเช่น Booking.com Agoda เป็นต้น
(Image: Barilliance)
กล่าวโดยสรุป FOMO Marketing จะมุ่งเน้นไปที่การใช้ถ้อยคำที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า โดยเฉพาะการกระตุ้นความรู้สึกกลัวที่จะพลาด ที่จะตกเทรนด์ หากนักการตลาดนำ FOMO Marketing มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม และถูกกาลเทศะ จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ที่มา
-
-
FOMO Marketing: Everything You Need to Know About Fear of Missing Out by Coral Ouellette
-
FOMO: Using Fear Of Missing Out - A Clever Marketing To Drive More Sales by Raul Harman
- 10 Effective FOMO Marketing Techniques to Increase Online Results by Steve Hogan