แนวคิด ‘Lean Startup’ สร้างความได้เปรียบให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างไร?
หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องเผชิญก็คือ “ทำ Software ไปแล้ว จะมีคนใช้หรือเปล่า” ในหลาย ๆ ครั้งที่บริษัทสตาร์ตอัปซอฟต์แวร์ (Startup) ต้องพบกับความล้มเหลว เมื่อ Software ที่ได้สร้างไปจนเสร็จสมบูรณ์นั้น ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ และเพื่อลดความเสี่ยงให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรน้อยที่สุด (Waste) แนวคิด Lean Startup จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญให้กับหลาย ๆ บริษัทสตาร์ตอัปซอฟต์แวร์ในยุคปัจจุบัน
Lean Startup คืออะไร?
Lean Startup คือ การที่ Startup สร้างผลิตภัณฑ์โดยมุ่งเป้าไปที่ความต้องการของผู้บริโภคตลอดจนกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product development process) โดยลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่สำคัญ หรือฟีเจอร์ (Features) ที่ไม่จำเป็น เพื่อลดต้นทุน (Cost) ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน เวลา และแรงงานในการสร้างสิ่งที่ไม่จำเป็นในมุมมองของผู้บริโภค ซึ่งการที่จะนำหลักการ Lean Startup Methodology มาใช้ได้ จะต้องเข้าใจในมุมมอง และมี Insights ของ Users จึงจะสามารถนำมาพัฒนาได้อย่างตรงจุด
5 หลักการสำคัญของ Lean Startup
1. Entrepreneurs are Everywhere
ไม่ว่าขนาด Startup ของคุณจะเล็ก หรือใหญ่ หรือห้องทำงานของคุณจะเป็นออฟฟิศ ห้องนอน หรือโรงรถ ถ้าคุณมีสตาร์ตอัป คุณก็คือผู้ประกอบการ
2. Entrepreneurship is a management
การจะเป็น Startup ไม่ใช่แค่มี Product แล้วจะประสบความสำเร็จได้ Startup เป็นจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีด้วย
3. Validated learning
การที่ Startup จะอยู่รอดในยุคปัจจุบันได้ ไม่ใช่เพียงมีสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ หรือแก้ไขปัญหาต่างๆจากลูกค้าได้ แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์รองรับ นั่นหมายถึง มีการตั้งสมมติฐาน ทำการทดลอง และนำผลการทดลองไปใช้ในการตัดสินใจในอนาคต เพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ (Vision) ที่บริษัทต้องการ ผ่านการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด
4. Innovation accounting
ผู้ประกอบการของธุรกิจ Startup มีหน้าที่ในการวัดผลการดำเนินงาน ตั้งเป้าหมายต่าง ๆ และ KPI รวมไปถึงเรียงลำดับความสำคัญของงาน เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปได้อย่างราบรื่น
5. Build-Measure-Learn Feedback Loop
หัวใจสำคัญของ Lean Startup ก็คือ “Build-Measure-Learn Feedback Loop” ซึ่งผู้ประกอบการ Startup จะต้องเข้าใจในวัฏจักรของการสร้าง-การวัดผล-การเรียนรู้ และสามารถลงมือทำตามลูปนี้ได้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถตีตลาดได้โดยไม่ต้องเสียเวลานานในการสร้าง โดยมุ่งไปที่ความสามารถในการปฏิบัติตามลูปนี้อย่างรวดเร็วที่สุด
Build-Measure-Learn Feedback Loop
5.1 Build (การสร้าง)
เมื่อผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ไอเดียใหม่และตัดสินใจที่จะสร้างซอฟต์แวร์แล้ว ควรพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถปล่อยผลิตภัณฑ์นั้นออกสู่สาธารณะให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อดู Feedback จากผู้ใช้ ซึ่งซอฟต์แวร์ที่นำออกมาใน Phrase นี้ ไม่จำเป็นจะต้องมีฟีเจอร์ที่สมบูรณ์ครบถ้วน หรือเสียเวลากับการพัฒนาฟีเจอร์ที่ไม่ได้สำคัญ ขอแค่สามารถตอบโจทย์ Pain point หลักของ Potential users ได้ เพราะความสำคัญของขั้นตอนนี้คือ การนำผลิตภัณฑ์มาทดลองตลาด และนำเอา Feedback ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อนั่นเอง
ผลิตภัณฑ์ที่นำออกมา อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) โดยที่ยังคง Concept ของ Minimal Viable Product (MVP) นั่นก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีฟีเจอร์น้อยที่สุด แต่ยังคงฟีเจอร์ที่สำคัญที่สามารถนำมาประเมินตลาดได้ แต่ไม่ได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ในส่วนที่ไม่จำเป็น
5.2 Measure (การวัดผล)
ขั้นตอนการวัดผลเป็นขั้นตอนที่จะได้มาซึ่งข้อมูล (Data) และความคิดเห็นของลูกค้าที่มีต่อซอฟต์แวร์ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายของการทดลอง เพื่อดูว่าผลการทดลองตลาดเป็นไปตามที่ตั้งไว้หรือไม่ รวมไปถึงการสอบถามความคิดเห็นของลูกค้าที่มีต่อความเป็นไปได้ในตลาด (Feasibility) นอกเหนือจากความคิดเห็นต่อการใช้งาน อย่างเช่น หากมีการวางขายจะมีคนซื้อซอฟต์แวร์หรือไม่ เพราะเหตุใด เพื่อที่จะนำข้อมูล Insights ที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อ
5.3 Learn (การเรียนรู้)
นำข้อมูลที่ได้จากการประเมินตลาดมาวิเคราะห์และสรุปผล และนำข้อมูลที่ย่อยแล้วเหล่านั้นมาคิดต่อ จนเกิดเป็นไอเดียต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้
“Build-Measure-Learn Feedback Loop” จะยังคงดำเนินการวนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้มีการสร้างผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่สมบูรณ์มากขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
จะเห็นได้ว่า แนวคิด Lean Startup จะเข้ามาช่วยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และมีโอกาสที่จะสร้างกำไรได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยเน้นที่ความรวดเร็วของขั้นตอนต่างๆ และลดการใช้ทรัพยากรกับส่วนที่ไม่จำเป็น หากสนใจเกี่ยวกับ Lean Startup สามารถอ่านต่อได้ที่หนังสือ The Lean Startup ของ Eric Ries หรือสนใจรับคำปรึกษาในการพัฒนาธุรกิจ สามารถติดต่อ Senna Labs ได้ทันที
ที่มา
- Lean Startup Methodology by Eric Ries
- The Key Principles of Lean Startup Methodology by Marco Herman