Blockchain คืออะไร? ทำไมถึงน่าสนใจในยุคนี้
ในยุคที่ cryptocurrency หรือ สกุลเงินดิจิทัล กำลังเป็นที่นิยม หลาย ๆ ท่านที่เริ่มสนใจการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินเหล่านั้น อาจเกิดความสงสัยถึงที่มาที่ไปของสกุลเงินต่าง ๆ หรือต้องการที่จะทราบว่าเทคโนโลยีที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นมีอะไรบ้าง ในบทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Blockchain ซึ่งเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูล (Database) ที่ไม่มีตัวกลางแต่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และยังเป็นเทคโนโลยีที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของเราได้ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนั้น ยังเป็นเบื้องหลังของบิตคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกที่โด่งดังอีกด้วย
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการที่เราจะจัดเก็บข้อมูลต่างๆ มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่
- ระบบรวมศูนย์กลาง (Centralized): ระบบนี้จะต้องอาศัยคนกลางในการเก็บข้อมูลไว้ภายในที่เดียว ยกตัวอย่างเช่น การฝากเงินและการถอนเงินของธนาคาร เราจะทำการส่งข้อมูลไปเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ (Server) ของธนาคาร เพียงที่เดียว จะไม่มีอะไรอยู่ในมือเรา สมุดบัญชีจะไม่มีเงินอยู่ในนั้น ข้อดีของวิธีนี้คือ โอกาสเกิดความผิดพลาดต่ำ ดูแลง่าย แต่ก็มีข้อเสียคือ การวางระบบมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องเชื่อใจระบบนั้น ๆ
- ระบบแบบกระจาย (Distributed): ระบบไม่มีศูนย์กลาง ทุกคนเก็บสมุดบัญชีไว้กับตัวเอง โอนได้ตามสะดวก ซื้อวิธีนี้อาจทำให้เกิดปัญหาด้านความไว้เนื้อเชื้อใจได้ ว่าข้อมูลจะถูกต้อง คนโอนมีเงินอยู่จริง หรือมีการแอบแก้ไขตัวเลขใด ๆ หรือไม่
Blockchain คืออะไร
Blockchain เป็นแนวคิดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่มีคนกลาง จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความไว้เนื้อเชื่อใจนี้ การทำงานของ Blockchain จะทำงานโดยไม่มี server ตัวกลาง แต่จะเป็นการเก็บข้อมูล Transaction ไว้ในกล่อง ที่ต่อกันยาวเป็นเส้นสาย ดังนั้น แนวคิดการจัดเก็บข้อมูลนี้จึงได้ชื่อว่า Blockchain ข้อมูลใน Block เหล่านี้ไม่สามารถลบได้ และจะถูกส่งไปที่ทุกที่ในโครงข่ายเพื่อให้ได้รับข้อมูลเดียวกัน
Blockchain (image: how blockchains could change the world)
การทำงานของ Blockchain
การทำงานของ Blockchain จะไม่เก็บเป็นยอดเงิน แต่จะเก็บเป็นรายการเดินบัญชีแทน (Transaction) และจะมีกุญแจเพื่อที่จะเข้าถึงบัญชีของตนเอง รายการเดินบัญชีนี้จะถูกเก็บไว้เป็น รายการเดินบัญชีแบบสาธารณะ (Public Ledger) ซึ่งทุกคนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และทุกคนในระบบจะมีรายการเดินบัญชีสาธารณะนี้ไว้กับตัวเองคนละ 1 ชุด หากมีใครต้องการโอนเงินให้ผู้อื่น จะต้องประกาศบอกทุกคนในระบบ และทุกคนในระบบจะจดตัวเลขลงในรายการเดินบัญชีสาธารณะของตนเอง
Blockchain process (image: thomsonreuters.com)
แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าการทำรายการเดินบัญชีนั้นถูกต้อง เงินในบัญชีเพียงพอในการโอนหรือไม่ การตรวจสอบจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนประกาศโอนเงินให้กับอีกคนหนึ่ง ทุกคนในระบบจะตรวจสอบรายการเดินบัญชีสาธารณะที่อยู่กับตนเอง ว่ามียอดเงินคงเหลือเพียงพอต่อการโอนหรือไม่ หากไม่พอการทำรายการนี้จะไม่ถูกบันทึกลงในรายการเดินบันชีสาธารณะ
ถ้าหากมีคนที่มีเงิน 100 บาท ประกาศทำรายการโอนเงิน 100 บาท ไปให้คนสองคนในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้เรียกว่า Double Spending หรือการใช้เงินก้อนเดียวทำรายการ ทุกคนในระบบจะได้ยินประกาศพร้อมกัน แต่รายการที่ถูกตรวจสอบก่อนจะถูกบันทึกลงในรายการเดินบัญชีสาธารณะก่อน และทำให้รายการที่ 2 เป็นโมฆะทันที
ซึ่งการทำงานแบบนี้ยังต้องการผู้ตรวจสอบรายการเดินบัญชี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายการ
ลำดับการทำงานเมื่อมีผู้ตรวจสอบรายการเดินบัญชี
- มีผู้ประกาศทำรายการเดินบัญชี สถานะยังไม่ยืนยัน
- ผู้ตรวจสอบยืนยันว่ามีสิทธิ์ทำรายการ และมีเงินเพียงพอต่อการทำรายการ
- ทุกคนในระบบเก็บเข้ารายการเดินบัญชีสาธารณะของตนเอง
Blockchain กับการขุด Bitcoin
แนวคิดระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบ Blockchain นี้ยังถูกใช้ในสกุลเงินดิจิทัลชื่อดังอย่าง Bitcoin อีกด้วย แต่มีความซับซ้อนของการเป็นผู้ตรวจสอบรายการเดินบัญชีอยู่มาก โดยการให้มีผู้ตรวจสอบรายการเดินบัญชีหลายคนแข่งกันตรวจสอบว่าใครทำได้เร็วกว่า แต่การตรวจสอบนี้ ผู้ตรวจสอบจะต้องแก้ไขโจทย์พิเศษที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ก่อน ถึงจะสามารถยืนยันรายการเดินบัญชีได้ การเป็นผู้ตรวจสอบและสามารถยืนยันการทำรายการได้ จะได้รับรางวัลเป็น Bitcoin จำนวนเล็กน้อย จึงเป็นที่มาของคำว่า ขุด Bitcoin ที่เรามักเห็นกันอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง