Colors in Design System : สี สิ่งที่ต้องคำนึงก่อนขึ้น UI
เชื่อว่าเวลาเริ่มต้นโปรเจกต์ใหม่ ๆ ก็จะมีความวุ่นวายเรื่องของการวาง Design System หรือ Guideline ของงานเพื่อให้ออกแบบได้เรียบร้อยและดูเป็นระเบียบเวลาส่งงานต่อให้กับดีไซเนอร์คนอื่น ๆ หรือแม้แต่ Developer เวลาต้องมาศึกษางานก่อนนำไปพัฒนา
สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องสีที่บางทีเป็นงงว่า สรุปแล้วสีดำมีกี่เฉด? สีไหนสีหลัก? ม่วงตรงนี้เข้มกว่าหรือเปล่า? ซึ่งจะทำให้เสียเวลาต่อการทำงานและต้องมีสื่อสารที่ใช้เวลากันอีกแน่นอน จึงอยากให้ทุกคนเริ่มต้นจากการทำ Design System กันก่อน ซึ่งแบ่งออกได้หลายส่วนแต่ในบทความนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องของสีกัน เริ่ม !
Primary Color
สีหลักหรือสีของแบรนด์ที่เราต้องใช้เป็นส่วนหลักของการออกแบบ 60-70% ของโปรเจกต์ ซึ่งสีหลักนี้เองจะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นถึงประเภทของแบรนด์และโปรเจกต์ที่คุณกำลังออกแบบอยู่ว่าต้องการให้ภาพลักษณ์ไปในทิศทางไหน เมื่อผู้ใช้หรือกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้งานบนเว็บหรือแอปพลิเคชันก็ตาม โดยที่สีใด ๆ ที่มีความหมายทางจิตวิทยาที่แตกต่างกันโดยสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ Colors in Business: สีเปลี่ยนธุรกิจ
Secondary Color
สีรองหรือสีที่ต้องการเพิ่มความโดดเด่นให้กับองค์ประกอบ ลูกเล่น การเน้นข้อความ หรือกับปุ่มที่เราต้องการให้ผู้ใช้เห็นและกดปุ่มได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ให้ตัวงานไม่ดูเป็นโทนสีเรียบ ๆ เพียงสีเดียว (Monotone) อีกทั้งยังช่วยให้งานของเราดูมีความหลากหลายในการเลือก นำมาใช้ออกแบบ แต่การนำไปใช้จริงควรดูโดยรวมแล้วสีรองไม่เกิน 30% ของงาน
Color Overlays
วางสีหลัก (Primary Color) ไว้เป็นพื้นหลังและเพิ่มการซ้อนทับของสีดำและสีขาวที่ปรับความโปร่งใส (Opacity) ทับบนพื้นหลัง เพื่อที่จะได้สีที่เข้มขึ้นไว้นำไปใช้กับข้อความโทนสีอ่อน และสีที่อ่อนลงก็สามารถใช้ข้อความสีเข้มมาใช้งานได้ โดยที่ยังดูเป็นโทนเดียวกัน
Gradients
สีที่เกิดจากการไล่ระดับสีของสีที่แตกต่างกันสองสีหรือมากกว่านั้น ทำให้เกิดสีที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งพอมองแล้วเกิดเป็นการรวมตัวกันของสีสันใหม่ ซึ่งจะช่วยให้แนวทางของงานในแบบที่ดูทันสมัย สดใส สวยงาม น่าสนใจ มีมิติ น้ำหนักและแปลกตา
Status Colors
สีการแจ้งเตือนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานะสำเร็จ (Success) เตือน(Warning) ผิดพลาด (Error) ข้อมูลเพิ่มเติม (Info)โดยสีที่จะเลือกใช้จะต้องทดสอบดูก่อนว่าสามารถได้กับสีพื้นหลังในแง่ของความแตกต่าง (Contrast) ตัวอักษรหรือไอคอนที่ใช้จะต้องอ่านได้ มองเห็นชัด และสบายตาต่อผู้ใช้
Neutral Colors
สีกลาง เป็นอีกหนึ่งชุดสีหนึ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานด้าน UX/UI Design เพราะว่าสีเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เป็นสีพื้นหลัง สีข้อความ ตัวคั่น โมเดล ฯลฯ การทำให้สีแท้ที่มีความเข้มของสีนั้นหม่นลง โดยการผสมสีตรงข้ามซึ่งจะทำให้สีกลางของคุณเย็นลงเล็กน้อย โดยการเพิ่มสีน้ำเงินเล็กน้อย หรืออุ่นขึ้น
ด้วยวิธีนี้จะทำให้การออกแบบของคุณรู้สึกเป็นธรรมชาติและช่วยให้ภาพรวมของงานจะดูกลมกลืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการสื่อความหมายต่างๆ ตั้งแต่สีเข้มไล่เฉดระดับความเข้มของสีไปเรื่อย ๆ ไปจนเป็นสีอ่อนนั้นเอง แนะนำ Tool ที่จะช่วยไล่ระดับสีให้ง่าย ๆ ชื่อ Make Tint and Shade Generator ที่เหมาะจะช่วยให้ชีวิตสบายขึ้น
ทีนี้ทุกคนก็พอจะรู้แล้วว่า Design System ในส่วน Color ว่ามีอะไรกันบ้างที่ควรกำหนดเอาไว้ ในบางประเภทอาจจะมี ชื่อเรียกอื่นๆ แล้วแต่บุคคลไป ซึ่งสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้จาก บริษัทใหญ่ ๆ /แบรนด์ดังอื่นๆ ที่เขาได้มีการลงไว้ในเว็บไซต์ เช่น IBM , Apple , Airbnb , Google , Microsoft , Uber เป็นต้น แล้วไว้จะมาสรุปและขยายความต่อกันต่อในบทความถัด ๆ ไป หวังว่าพอได้เข้ามาอ่านกันแล้วจะได้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสีกันมากขึ้น
ต่อไปพอจะเริ่มทำการออกแบบอย่าลืมทำ Design System กำหนดค่าสีส่วนต่าง ๆ กันก่อนจะได้ง่ายต่อฝ่ายอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกับเราหรือทำงานต่อจากเรานั้นเอง หรือแม้กระทั่งลูกค้าเวลาอธิบายก็จะได้เข้าใจตรงกันว่านี้เราหมายถึงสีส่วนไหนกัน
เจอกันบทความหน้าจะมาแนะนำ Tools ที่จะช่วยให้เรื่องสีเป็นเรื่องง่ายขึ้นเร็ว ๆ นี้
Ref
- Design Systems 101gggg By Therese Fessenden
- What is a design system? by Varun Vachhar, Catherine Maritan
- What is a Design System? by Courtney Clark
- Design System คืออะไร? เล่าเคสการทำงานจริงพร้อมตัวอย่างประกอบ By Natk
- Design System คืออะไร? เรื่องที่ Ux และ Ui Designer ไม่รู้ไม่ได้ By OAA